ดร.ทนพ.ณัฐวุฒิ เจริญผล อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย เรื่อง “ลักษณะและความหนาแน่นของเซลล์หลั่งเมือกในหอยนางรมปากจีบ ชนิด Saccostrea cucullata (Born, 1778) จากเกาะลิบง ประเทศไทย" ว่า เซลล์หลั่งเมือกหรือ mucous secreting cell เป็นเซลล์ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของหอยพบกระจายตัวอยู่บริเวณชั้นเยื่อบุผิวของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะ เหงือก แผ่นปาก และแมนเทิล ทำหน้าที่สร้างและหลั่งสารประกอบโมเลกุลใหญ่กลุ่ม mucopolysaccharides ที่มีความสำคัญต่อการป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแวดล้อมภายใต้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของหอย ดังนั้น เซลล์หลั่งเมือก จึงจัดเป็น immune cell ที่ตอบสนองต่อเชื้อโรคและสภาวะแวดล้อมที่มีความเครียด แต่มีขนาดและรูปร่างที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่อาศัย แต่ยังไม่มีการศึกษาเซลล์ดังกล่าวในหอยนางรมปากจีบ
หอยนางรมเป็นหอยสองฝาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรจึงนิยมทำการเพาะเลี้ยงหอยนางรมในธรรมชาติ ซึ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต เนื่องด้วยคุณสมบัติการกรองกินของหอย หอยนางรมอาจสะสมโลหะหนัก เชื้อโรค และมลพิษอื่น ๆ จากน้ำโดยรอบ และสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงการตอบสนองของ immune cell ในหอย จึงมีการศึกษาผลกระทบดังกล่าวในอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ เหงือก, ลำไส้ และแมนเทิล
จากการศึกษาที่ผ่านมา พบการกระจายของ immune cell ในเนื้อเยื้อแมนเทิลเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแมนเทิลเป็นเนื้อเยื่อชั้นบาง ๆ ครอบคลุมอวัยวะภายในของหอยนางรมทั้งหมด และมีส่วนร่วมในกระบวนการกรองกินของหอยนางรม จึงทำให้มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีรายงานชนิดและลักษณะของเซลล์หลั่งเมือกบริเวณแมนเทิลของหอยนางรมปากจีบ
สำหรับวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบชนิด และความหนาแน่นของเซลล์หลั่งเมือก ของหอยนางรมปากจีบ ระหว่างจากบริเวณสะพานหินและหอดูพะยูน เกาะลิบง ประเทศไทย โดยมีกระบวนการศึกษา ด้วยการสุ่มหอยปากจีบจากบริเวณชายฝั่งของเกาะลิบง ประเทศไทย ในเดือนเมษายน จำนวน 6 ตัวต่อจุด แบ่งเป็น จุดที่ 1 บริเวณสะพานหิน มีลักษณะเป็นหาดหินหาดทราย อยู่ห่างจากชุมชน จึงได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์น้อย และจุดที่ 2 บริเวณหอดูพะยูน อยู่ติดกับแหล่งหญ้าทะเล ที่มีลักษณะเป็นดินปนโคลน และเป็นพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชน การทำประมงพื้นบ้านและรองรับการท่องเที่ยว
หลังจากนั้นตัวอย่างหอยปากจีบแต่ละจุดถูกตัดชิ้นเนื้อ และเข้าสู่กระบวนการมาตรฐานทางมิญชวิทยา ตัดบางที่ความหนา 4 ไมโครเมตร และย้อมด้วยสี Massoan’s trichrome เพื่อศึกษาโครงสร้างของเซลล์เนื้อเยื้อ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์และนำสไลด์ถาวรไปวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม image j โดยกำหนดสุ่ม สไลด์ถาวรจำนวน 6 ตัว ต่อ พื้นที่ แต่ละตัวสุ่มถ่ายภาพบริเวณเนื้อเยื้อแมนเทิล 5 ตำแหน่ง พร้อมทำการจำแนกชนิดของ MSC หลังจากนั้น MSC แต่ละชนิดถูกนำมาคำนวนเพื่อหาค่าความหนาแน่นของเซลล์ และนำไปวิเคราะห์ทางสถิติด้วย Two-way ANOVA โดยใช้โปรแกรม GraphPad Prism ต่อไป
ดร.ทนพ.ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษาพบว่า เซลล์หลั่งเมือกของหอยปากจีบแบ่งเป็น 4 ชนิด ตามรูปร่าง ได้แก่ รูปร่างคล้ายวงรี รูปร่างคล้ายถ้วย รูปร่างคล้ายลูกแพร์ และแบบแท่ง และเมื่อทำการศึกษาความหนาแน่นของเซลล์หลั่งเมือก พบว่า เซลล์หลั่งเมือก รูปร่างคล้ายวงรีและรูปร่างคล้ายถ้วย ถูกพบในหอยปากจีบที่ถูกเก็บจากพื้นที่ของหอดูพะยูน จำนวนมากกว่าพื้นที่สะพานหิน ซึ่งค่าเฉลี่ยของจำนวนของ Msc ที่มีรูปร่างแบบวงรีและรูปร่างคล้ายถ้วย มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
เมื่อเปรียบเทียบหอยนางรมปากจีบระหว่างสองจุด คือ บริเวณสะพานหิน (ปนเปื้อนน้อย)และหอดูพะยูน (อยู่ติดชุมชนปนเปื้อนมาก) มีเซลล์หลั่งเมือก 4 ชนิด แต่มีความหนาแน่นของ MSC ต่างกัน เป็นไปได้ว่าอาจเป็นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในหอยนางรม ภายใต้ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ในจำนวนที่สูงขึ้น
ความคาดหวังหากนำมาใช้ประโยชน์จริงในมนุษย์ นั้น เนื่องจากเซลล์หลั่งเมือกในหอยนางรม ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิค้มกัน มีความสามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนบริเวณที่อยู่อาศัยได้ดี มีจำนวนมาก และจับได้ง่าย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ หอยนางรมจึงเป็นสัตว์เฝ้าระวังที่น่าสนใจ ในการประเมิณคุณภาพของสิ่งแวดล้อม สุขภาพของหอยนางรม รวมถึงดัชนีชี้วัดความปลอดภัยในการบริโภคของหอยในมนุษย์ที่อาจได้รับการสะสมของสารพิษผ่านระบบห่วงโซ่อาหาร
ล่าสุดผลงานดังกล่าว โดยนางสาวกิติยา คงทอง นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรางวัลระดับ Bronze ในการนำเสนอ ภาคบรรยายเรื่อง “ลักษณะและความหนาแน่นของเซลล์หลั่งเมือกในหอยนางรมปากจีบชนิด Saccostrea cucullata (Born, 1778) จากเกาะลิบง ประเทศไทย" ในการปะชุมวิชาการนวัตกรรมการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2566 ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
นอกจากนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ (Scopus Q2) เรื่อง“ Size distribution and organ development of the hooded oyster, Saccostrea cucullata (Born, 1778) from Libong Island, Thailand " วารสาร ScienceAsia 49(2023): 918-926 Link doi: 10.2306/scienceasia1513-1874.2023.095