การดื้อยาต้านจุลชีพกับการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

 
การดื้อยาต้านจุลชีพกับการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
บทความโดย
อาจารย์ณัฐพงศ์ โปรยสุรินทร์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต
อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผศ.ดร.พีรญา อึ้งอุดรภักดี
อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
          การดื้อยาต้านจุลชีพหรือที่เรารู้จักกันคือ เชื้อดื้อยา เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการเสียชีวิตเนื่องจากเชื้อก่อโรคที่ดื้อยาต้านจุลชีพประมาณ 700,000 รายต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10 ล้านคนภายในปี พ.ศ.2593 นอกจากการเสียชีวิตและทุพพลภาพแล้ว ธนาคารโลกประมาณการว่า การดื้อยาต้านจุลชีพอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี พ.ศ.2593 และสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ภายในปี พ.ศ.2573 เนื่องจากประสิทธิผลของงานที่ได้จากประชากรที่มีปัญหาสุขภาพจากการติดเชื้อจุลินทรีย์ดื้อยา ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดจากการดื้อยาต้านจุลชีพ
การดื้อยาต้านจุลชีพคืออะไร
           การดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance; AMR) ถือเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขและการพัฒนาอันดับต้น ๆ ของโลก มันเกิดขึ้นจากการที่คนใช้ยาต้านจุลชีพในทางที่ไม่เหมาะสม หรือ ใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็น ในการรักษา ป้องกัน หรือควบคุมการติดเชื้อในคน สัตว์ และพืช ทำให้แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพวกปรสิตต่าง ๆ พัฒนาเป็นเชื้อโรคที่ดื้อยา เพราะเชื้อโรคเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ไม่ตอบสนองต่อยาต้านจุลชีพ ซึ่งการดื้อยาต้านจุลชีพที่เกิดขึ้นนี้ มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่หยุด
ในประเทศไทยมีการพบการดื้อยาต้านจุลชีพในสิ่งแวดล้อมบ้างหรือไม่
          ล่าสุดได้มีรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยออกมาว่า ประเทศกำลังพัฒนา มากกว่า 50% ของการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรและการปศุสัตว์ที่มีความซับซ้อนขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้ที่สูญเปล่าหรือเปล่าประโยชน์ก็ว่าได้
          เมื่อเดือนตุลาคม ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย มีการรายงานว่า แหล่งน้ำและดินบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรรม เช่น ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.นครปฐม มีการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ได้แก่ E.coli และ Klebsiella โดยเป็นการดื้อยาในกลุ่ม Ampicillin, Amoxy-clavulanate, Tetracycline, Sulfamethoxazole, Amoxicillin ซึ่งเป็นยากลุ่มที่นิยมใช้ในฟาร์มอุตสาหกรรมและใช้รักษาโรคในผู้ป่วยที่ติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ในทางเดินปัสสาวะ ในกระแสเลือด หลอดลมอักเสบ ภาวะติดเชื้อที่หู รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนผลการทดสอบในต่างประเทศ เช่น แคนาดา สเปน สหรัฐอเมริกา พบยีนดื้อยาต่อ tetracycline, streptomycin, cephalosporins, fluoroquinolones และ macrolides ในตัวอย่างน้ำและดินใกล้ฟาร์มสูงกว่าระดับมาตรฐานถึง 200 เท่า
เชื้อดื้อยาเหล่านี้ ปนเปื้อนและแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
          การเกิดเชื้อโรคที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพเกิดจากการทิ้งของเสียจากคนและสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราส่วนเกินปะปนอยู่ ทำให้เกิดการแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น แหล่งน้ำ ดิน และ อากาศ เป็นต้นว่า ของเสียจากคนหรือผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราที่ไม่สามารถบำบัดได้ด้วยระบบบำบัดรวมถึงหลายประเทศทั่วโลกมีการปล่อยของเสีย หรือ ถ่ายอุจจาระแบบเปิด ลงสู่แหล่งน้ำโดยไม่ผ่านการบำบัด ส่วนของเสียจากสัตว์ที่ได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา และถูกนำไปใช้เป็นปุ๋ยในพื้นที่เกษตรกรรม เกิดการตกค้างในดินและแหล่งน้ำใกล้เคียงได้ ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนใหญ่ก็มีการใช้ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา ทำให้ยาเหล่านี้ตกค้างและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน
          นอกจากการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน แล้ว ยังมีข้อมูลกว่า 100 ประเทศ ที่บ่งชี้ว่ามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ทุกทวีป มีความสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการดื้อยาปฏิชีวนะ โดยแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะอาจติดอยู่กับอนุภาค PM2.5 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ประชาชนมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง ฉะนั้นถ้าเราควบคุมมลพิษทางอากาศได้ เราจะสามารถลดการเสียชีวิตและต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะได้อย่างมาก
หากทั่วโลกมีการดื้อยาต้านจุลชีพเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบทั้งต่อคน สัตว์ และ พืช ตามมาจะมีอะไรบ้าง
          1. การขาดน้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) ที่ดี สำหรับคนและสัตว์ ทำให้ยากต่อการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อได้ดี
          2. ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนงานที่ป่วยและต้องรักษาตัวในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน
          3. ทำให้การติดเชื้อรักษายากหรืออาจรักษาไม่ได้ เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคการเจ็บป่วยรุนแรง ความพิการ และการเสียชีวิตมากขึ้น
          4. ทำให้ขั้นตอนทางการแพทย์และการรักษาอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนข้อสะโพก การปลูกถ่ายอวัยวะ การผ่าตัดอื่น ๆ หรือ เคมีบำบัดสำหรับมะเร็งต่าง ๆ มีความเสี่ยงมากขึ้น
          5. การดูแลผู้ป่วยหนักมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นจากการติดเชื้อที่รักษายากขึ้น
          6. การติดเชื้อดื้อยาส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์และพืช ทำให้ผลผลิตในฟาร์มหรือผลผลิตทางการเกษตรลดลง เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารขึ้น
          ยาปฏิชีวนะไม่ควรถูกใช้เพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในฟาร์มอุตสาหกรรม แต่ทั่วโลกยังมีการนำยาปฏิชีวนะมาใช้มากถึง 75% รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพในชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมหรือใช้เกินความจำเป็น
เอกสารอ้างอิง
– กระทรวงสาธารณสุข. (2566). แนวทางการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาล. สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://shorturl.at/eilz1
– เนตรธิดา บุญนาค. (2565). แม่น้ำกว่า 200 สายทั่วโลกปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ยา หลายสายมีระดับเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://www.sdgmove.com/2022/02/24/pharmaceutical-pollution-in-worlds-rivers/
– ผู้จัดการออนไลน์. (2564). อันตราย!! พบเชื้อดื้อยา ปนเปื้อนในแหล่งน้ำสาธารณะ-สิ่งแวดล้อม ใกล้ฟาร์มสัตว์. สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000035059
– รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์. (2564). เชื้อดื้อยา การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์. สืบค้นเมื่อ
วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/20426/food-agriculture-amr-environment-meat-industry/
– สำนักข่าว Thai PBS. (2566). รักษาไม่ได้ผล “ยาปฏิชีวนะ” ทำเศรษฐกิจพัง 4 หมื่นล้าน-คนป่วยนาน. สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/333586
– สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. (2559). หยุด 10 พฤติกรรมทำให้เกิดเชื้อดื้อยา. สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://www.hfocus.org/content/2016/11/13003
– อรุณ สรเทศน์. (2564). เชื้อดื้อยา ปัญหาจากการปนเปื้อนยาในสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน
2567 จาก https://shorturl.at/mpHM1
– Centers for Disease Control and Prevention. (2022). Where Resistance Spreads: Water, Soil, & the Environment. สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://www.cdc.gov/drugresistance/environment.html
– Shepherd Sundayi Sambaza & Nisha Naicker. (2023). Contribution of wastewater to antimicrobial resistance: A review article. 34; p.23-29.
– The guardian. (2023). Air pollution linked to rise in antibiotic resistance that imperils human health. สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://www.theguardian.com/society/2023/aug/07/air-pollution-linked-rise-antibiotic-resistance-imperils-human-health
– World Health Organization. (2023). Antimicrobial resistance. สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2567 จาก https://shorturl.at/efqX0

Loading