ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุวยงค์ จันทร์วิจิตร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่เรืออากาศตรี ดร.บัญชา สำรวยรื่น คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม นางสาวปิยพรรณ ตระกูลทิพย์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก (ผู้แทนผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก) ร่วมกันแถลงข่าวการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึงสามปี ภายใต้ชื่อหลักสูตรองค์รวมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถผู้ดูแลเด็กแรกเกิดถึงสามปี ความท้าทาย 3:3 ของประเทศไทยและในอนาคต เพื่อตอบสนองนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็น “ ส่งเสริมการมีบุตร” แก่สื่อมวลชน จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมวังจันทน์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
สำหรับปี 2567 กระทรวงสาธารณสุข เร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาระสำคัญ คือ ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการมีบุตร การช่วยเหลือผู้ที่มีบุตรยาก การแก้ไขฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ การสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร พร้อมกับขยายบริการดูแลเด็กปฐมวัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัด เนื่องจากในปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องทำงาน มีอุปสรรคในการเลี้ยงดูบุตร นโยบายการเพิ่มบริการรับดูแลและรับเด็กอายุ 3 เดือนถึง 2 ปี เป็นนโยบายเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับการช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูและให้เข้าถึงบริการในสถานที่ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีอายุน้อย ซึ่งพบว่าผู้ปกครองจำนวนมากมีความต้องการบริการดูแลเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี
จากข้อมูลรายงานของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2566 สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 2 มีความประสงค์จะเปิดรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จำนวน 34 แห่ง โดยแบ่งเป็น จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 9 แห่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 6 แห่ง จังหวัดสุโขทัย จำนวน 5 แห่ง และจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 14 แห่ง ซึ่ง ณ ขณะนี้ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ได้ร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการในสถานพัฒนาเด็กนำร่อง จังหวัดละ 2 แห่ง โดยได้นำหลักสูตรการอบรมผู้ดูแลเด็กแรกเกิดถึงสามปีของกรมอนามัยฯ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับ คือครูผู้ดูแลเด็กจะมีองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพเด็กเล็กเพิ่มขึ้นและสามารถจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี นอกจากนี้ ผู้ปกครองจะได้รับประโยชน์ลดภาระการดูแลเด็กต่ำกว่า 2 ปี ในครอบครัวที่ขาดผู้ดูแล
นอกจากนี้ สำหรับที่มาของ “ความท้าทาย 3 : 3” เป็นแนวคิดที่เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องทำงาน จึงมีความจำเป็นในการเข้าถึงบริการดูแลเด็กที่มีอายุในช่วงที่ยังมีช่องว่างของบริการ เพราะโดยส่วนใหญ่หลังจากที่แม่ลาคลอดครบแล้ว (3 เดือน) เด็กส่วนมากเข้าถึงแต่บริการด้านสุขภาพ และจำเป็นต้องรอการเข้าถึงบริการการดูแลเด็กปฐมวัยในการเรียนรู้ในช่วงอายุ 3 ปี ขึ้นไป ดังนั้น ช่องว่างในการให้บริการสำหรับเด็กและครอบครัว ตั้งแต่อายุ 3 เดือน ถึง 3 ปี จึงเป็นความท้าทายสำหรับครอบครัว ที่เป็นความท้าทายที่เรียกว่า “ความท้าทาย 3 : 3” จะเห็นว่ามีผู้ปกครองจำนวนมากต้องการรับบริการการดูแลเด็กแรกเกิดถึงสามปี
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ในวันเวลาราชการ หมายเลขโทรศัพท์ 055 993 000 ต่อ 276 หรือช่องทางอินบล็อค Facebook ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก