รายการ : สุขกาย สบายใจ
เรื่อง : มุมมองนักวิชาการด้านสาธารณสุข ม.นเรศวร ต่อผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า
ผู้ให้สัมภาษณ์ : รองศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 10.00 – 12.00 น.
ผ่านคลื่น : FM 107.25 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร
#วิทยุเพื่อการศึกษาสร้างปัญญาสู่มวลชน
บทความวิจัย
การใช้บุหรี่ไฟฟ้า และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเก่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์
การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา
จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ, อรวรรณ กีรติสิโรจน์, และกันยารัตน์ ธวัชชัยเจริญยิ่ง
สนับสนุนทุนวิจัย โดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการสำรวจการใช้บุฟรี่ไฟฟ้า ความรู้และความเชื่อต่อบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย
ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 งานวิจัยนี้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โครงการวิจัย COA No.090/2023, IRB No.P3-0004/2566 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์โดยให้นักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.6 มีประสบการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในรอบ 30 วันที่ผ่านมาและกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน ร้อยละ 17.6 มีความตั้งใจที่จะทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอนาคต โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้และความเชื่อที่ถูกต้องต่อบุหรี่ไฟฟ้า
แต่ยังมีกลุ่มตัวอย่างบางส่วนที่ขาดความรู้และมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องต่อบุหรี่ไฟฟ้าใน 10 เรื่อง ต่อไปนี้
-
ร้อยละ 49.2 เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มวัยรุ่น
-
ร้อยละ 40.5 ไม่รู้ว่าการมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองผิดกฎหมาย
-
ร้อยละ 39.3 ไม่รู้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะผิดกฎหมาย
-
ร้อยละ 39.3 ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
-
ร้อยละ 39.3 ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด
-
ร้อยละ 36.6 ไม่เชื่อว่าการได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองมีอันตรายต่อสุขภาพ
-
ร้อยละ 35.8 ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบรุนแรงหรือ EVALI
-
ร้อยละ 34.2 ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้
-
ร้อยละ 21.8 เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่แบบมวนได้
-
ร้อยละ 20.5 เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบมวน
จากผลการวิจัยดังกล่าว จึงเสนอให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บุคลากรสาธารณสุข ครู ผู้ปกครอง สื่อสารมวลชน แกนนำเยาวชน เร่งรัดพัฒนามาตราการเสริมสร้างความรู้และความเชื่อที่ถูกต้องให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยเฉพาะใน 10 เรื่องที่ยังเป็นความรู้และความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและลดผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนได้
การปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน
วิจัยนี้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 6,147 จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์โดยให้นักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ
ผลการการวิจัยที่สำคัญ
นักเรียนมัธยมศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง
ร้อยละ 53.6 มีความเห็นว่าโรงเรียนมีการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในระดับมาก
ร้อยละ 46.4 มีความเห็นว่าโรงเรียนมีการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในระดับน้อย
เมื่อจำแนกรายข้อ พบว่า
ร้อยละ 66.7 เห็นว่าโรงเรียนมีนโยบายควบคุมกำกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม
ร้อยละ 66.3 เห็นว่าครูปรับเนื้อหาการสอนเน้นพิษภัยของบุหรี่แบบมวนควบคู่กับบุหรี่ไฟฟ้า
ร้อยละ 65.6 เชื่อมั่นในเนื้อหาเรื่องพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าที่ครูสอน
ร้อยละ 65.2 เห็นว่าครูใช้สื่อประกอบการเรียนการสอนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น
ร้อยละ 64.8 เห็นว่าครูนำข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้ามาประกอบการสอน
ร้อยละ 63.6 เห็นว่าการจัดกิจกรรมป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนเท่าทันต่อโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า
ร้อยละ 62.0 เห็นว่าครูให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างดี
คำอธิบายเชิงลึกเกี่ยวกับการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนบุหรี่ไฟฟ้า
ผู้บริหารและครูในโรงเรียนส่วนใหญ่รับรู้สถานการณ์แพร่ระบาดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน จาก 5 แหล่งสำคัญ คือ
-
รับรู้จากสังคมภายนอกโรงเรียน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เครือข่ายผู้ปกครอง
-
รับรู้ด้วยการสังเกตเห็นว่ามีนักเรียนพกพาบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน
-
รับรู้จากนักเรียนแกนนำที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงของเพื่อนในโรงเรียน
-
รับรู้จากการสุ่มตรวจค้น
ในขณะที่ผู้บริหารและครูบางส่วนไม่รับรู้หรือไม่แน่ใจสถานการณ์แพร่ระบาดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน โดยมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ ไม่เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ๆ และมีความเห็นว่าการตรวจค้นหรือบ่งชี้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำได้ยาก
การปรับนโยบายโรงเรียนเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า จำแนกออกเป็น 2 ลักษณะคือ
-
โรงเรียนปรับนโยบายควบคุมบุหรี่ของเดิมให้ครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้นโยบายสะท้อนปัญหาแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าและมีความเฉพาะเจาะจงและนำไปสู่การแปลงเป็นมตราการและกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมขึ้น
-
โรงเรียนไม่มีนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่เฉพาะเจาะจงแต่กำหนดนโยบายภาพรวมปัจจัยเสี่ยง
การปรับเนื้อหารการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า จำแนกออกเป็น 2 แบบแผนคือ
-
เพื่มเติมเนื้อหากฎหมายและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเฉพาะเจาะจง ด้วยการออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสมกับระดับชั้นของนักเรียน ใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ และเพิ่มเติมเนื้อหารูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้า
-
เสริมเนื้อหาบุหรี่ไฟฟ้าในการสอนเนื้อหาบุหรี่มวนบางโอกาส โดยบางโรงเรียนไม่ได้กำหนดเนื้อหาที่ใช้สอนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าไว้อย่างเจาะจงเพราะในหลักสูตรแกนกลางไม่ได้กำหนดหัวข้อบุหรี่ไฟฟ้าไว้ แต่ใช้การเสริมเนื้อหาเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในการเรียนการสอนเนื้อหาของบุหรี่มวนหรือหัวข้อสารเสพติดบ้างบางโอกาส
การปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า จำแนกออกเป็น 2 แบบแผนคือ
-
จัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ในวิชาสุขศึกษาและลักษณะบูรณาการสอดแทรกไปในหลายวิชาเคมี
-
จัดการเรียนการสอนนอกห้องเรียน เน้นไปที่กิจกรรมเสริมสร้างปรสบการณ์และทักษะชีวิต ได้แก่ บรรยายให้ความรู้หน้าเสาธง ขัดบอร์ดให้ความรู้ เชิญวิทยากรจากภายนอกโรงเรียนมาบรรยายในหัวข้อบุหรี่ไฟฟ้า สอดแทรกเนื้อหาบุหรี่ไฟฟ้าผ่านโครงงานแก้ไข และการจัดการกิจกรรมเสริมประสบการณ์และทักษะชีวิต บางส่วนยังจัดในชุมชนภายนอกโรงเรียน
ปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน
ผู้ให้ข้อมูลหลักให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนบุหรี่ไฟฟ้าว่าเกี่ยวข้องกับ 3 ด้าน คือ
-
ด้านนโยบาย ประกอบด้วย นโยบายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนยังไม่เป็นรูปธรรม และนโยบายป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนยังไม่เฉพาะเจาะจง
-
ด้านเนื้อหา ประกอบด้วย ตัวชี้วัดในหลักสูตรแกนกลางไม่ได้ระบุถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง ไม่มีโครงสร้างเนื้อหาต้นแบบเกี่ยวกับกฎหมายและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมนำมาใช้งาน
-
ด้านวิธีการ ประกอบด้วย โรงเรียนเน้นรณรงค์มากกว่าเนื้อหาวิชาการและการเรียนการสอน และเน้นจัดกิจกรรมในภาพรวม/เด็กกลุ่มเสี่ยงไม่มีส่วนร่วม
ข้อเสนอแนะต่อการจัดการเรียนการสอนบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน มี 7 ข้อคือ
-
โรงเรียนควรกำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นลายลักษณ์อักษร
-
โรงเรียนควรประกาศให้การป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนเป็นวาระเร่งด่วน
-
ตัวชี้วัดในหลักสูตรแกนกลางควรระบุให้ชัดว่าหมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสารเสพติดที่ผิดกฎหมาย
-
ควรกำหนดโครงสร้างเนื้อหาที่นักเรียนควรรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
-
ควรมีแหล่งรวบรวมเนื้อหาและสื่อที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์และกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับกฎหมายและผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าที่พร้อมนำไปใช้จัดการเรียนการสอน
-
ควรเพิ่มหัวข้อการเรียนรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในตัวชี้วัดในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน
-
แนวทางการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์และทักษะชีวิตควรมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้สำหรับรายบุคคลโดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้า