ดัชนีชีวภาพต่อการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของเกษตรกรสวนส้มจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช

         

          ดร.ทนพ.ณัฐวุฒิ เจริญผล อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนคณะวิจัย ได้เล่าถึงการศึกษาวิจัย เรื่อง ดัชนีชีวภาพต่อการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของเกษตรกรสวนส้มจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ให้กับทีมงานสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร FM 107.25 ว่า เขตภาคเหนือตอนล่างเป็นแหล่งเพาะปลูกส้มที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐบาลจะรณรงค์ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และส่งเสริมให้ปลูกส้มปลอดสารพิษ แต่เกษตรกรกลุ่มใหญ่ก็ยังคงใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องและในปริมาณสูง เห็นได้จากข้อมูลการเจ็บป่วย และการตรวจค่าโคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกรในชุมชนที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงทั้งหมู่บ้าน รวมถึงพฤติกรรมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ประมาท จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการศึกษาเบื้องต้นถึงสุขภาวะของเกษตรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เป็นข้อมูลพื้นฐานทางด้านพฤติกรรมการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ค่าการปนเปื้อนของสารพิษทั้งในมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการผลักดันเชิงนโยบายสาธารณะในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมสวนส้มปลอดสารพิษ
          วัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ ของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ เพื่อสำรวจสถานการณ์การใช้สารกำจัดศัตรูพืชเกษตรกรสวนส้ม และเพื่อศึกษาปริมาณสารกำจัดศัตรูพืช ที่ปนเปื้อนในปลา ดิน น้ำ และส้ม จากแหล่งน้ำในพื้นที่ทำสวนส้ม

          การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ใช้เครื่องมือทางการวิจัย คือ แบบสอบถามพฤติกรรมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร หมู่ 7 บ้านวังขอนงุ้น ต.แม่สำ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย จำนวน 150 ชุด การตรวจค่าโคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกรและชาวบ้านในชุมชน จำนวน 160 คน และการเก็บตัวอย่างในธรรมชาติทั้ง ดิน น้ำ ส้ม และปลา ไปตรวจหารสารกำจัดศัตรูพืช โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจาก 3 จุดเก็บ ในพื้นที่ โดยแต่ละจุดเก็บจะเก็บตัวอย่างปลา 5 ตัวอย่าง ดิน 3 ตัวอย่าง น้ำ 3 ตัวอย่าง และ ส้ม 3 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 42 ตัวอย่าง ในตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตัวอย่างทั้งหมดที่สุ่มเก็บได้จะนำส่งยังห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืช และรายงานผลการตรวจวิเคราะห์

          โดยจากผลการศึกษาข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร ทำสวนส้มโดยการเพาะปลูกเองเป็นอาชีพหลักร้อยละ 86.1 อายุเฉลี่ย 41-50 ปี ซึ่งพฤติกรรมใช้สารกำจัดศัตรูพืชผิดวิธี รวมถึงอยู่ในบริเวณที่มีการฉีดพ่นหรือสัมผัสผักผลไม้ที่ฉีดพ่น คิดเป็นร้อยละ 69.4 ซึ่งจากแบบสอบถามเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัย ร้อยละ 93.8 ของเกษตรกรไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใด ๆ มีเพียงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น และส่วนใหญ่ไม่มีโรคประจำตัว คิดเป็นร้อยละ  90.40 รองลงมาเป็นโรคเบาหวาน และขาดสารอาหาร
          ส่วนความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรในเรื่อง ผลกระทบต่อสุขภาพ  ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความรู้ในการลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ความรู้ทั่วไปด้านระบบนิเวศและธรรมชาติ  มีระดับความรู้และทัศนคติต่อการใช้สารกำจัดศัตรูพืช อยู่ในระดับดีมาก
          จากแบบสอบถามพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ให้ผลไปในทางเดียวกัน แต่ผลการศึกษาระดับความเสี่ยงของผลเลือดต่อการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรโดยทดสอบระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส พบว่า จากผู้เข้ารับการตรวจ 160 คน พบระดับของสารเคมีตกค้างในเลือดในระดับที่มีความเสี่ยง จำนวน 142 คน คิดเป็นร้อยละ 88.75 รองลงมาคือ ปลอดภัย จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 5.62 ไม่ปลอดภัย จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 5 และปกติ จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 0.62 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อนำไปหาความสัมพันธ์ทางสถิติ กับค่าเลือดและพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการตรวจหาสารปนเปื้อนจากตัวอย่างดิน น้ำ ส้ม และปลา
          การศึกษาในดิน พบการปนเปื้อน Glyphosate อนุพันธ์ของ Glyphosate ในรูปแบบ AMPA, Paraquat ส่วน Chlorpyrifos ตรวจไม่พบ ในส้ม พบปริมาณของสารกำจัดแมลงในปริมาณต่ำ ๆ เท่านั้น ส่วนในปลา และน้ำ ตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดแมลง
           ผลจากการศึกษาที่กล่าวมาทั้งหมด จะช่วยทำนายหรือคาดการณ์สภาวะสุขภาพของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารกำจัดศัตรูพืช การร่วมมือกันฟื้นฟูแหล่งน้ำในชุมชนที่ปนเปื้อน และสุขภาพในระยะยาวของเกษตรกรและครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ ข้อมูลป้อนย้อนกลับเบื้องต้นผ่านผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

          ประเด็นเกษตรกร ถึงแม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะรู้และทราบวิธีการป้องกันตนเอง พฤติกรรมการใช้สารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดแมลง แต่ก็ยังคงใช้สารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดแมลงในปริมาณสูง แม้ว่าผลการศึกษาที่ได้มาจะช่วยให้เกษตรกรพึงตะหนักถึงผลที่จะตามมาในอนาคต แต่การมีส่วนร่วมและการสร้างเครือข่ายสวนส้มปลอดสารพิษจะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน อาจต้องใช้เวลาและแรงผลักดันจากทุกภาคส่วน แต่การวิจัยในครั้งนี้ก็ทำให้เกิดผลสะท้อนกับชุมชนสวนส้ม ได้อีกทางหนึ่ง โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมผู้วิจัยได้ทุนต่อยอดในการทำสวนส้มปลอดสารเชิงท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นจุดต่อเนื่องในการผลักดันการลดปริมาณการใช้สารเคมีได้ในอนาคต
          ประเด็นผู้นำชุมชน ชุมชนบ้านวังขอนงุ้น มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งและเห็นถึงความคุ้มค่าที่ยั่งยืน ทีมวิจัยจึงได้รับความร่วมมือทั้งจากผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นอย่างดีมาก ๆ ช่วยนักวิจัยให้ได้ข้อมูลและเข้าถึงปัญหาได้อย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดกลุ่มของเกษตรกรสวนส้มปลอดสารพิษขึ้น และในอนาคต จะมีโครงการจากทุนวิจัยต่อเนื่องของทีมวิจัยลงไปผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมที่ยั่งยืนต่อไป
          ประเด็นผู้บริโภค ผลชัดเจนที่เกิดขึ้นจากการศึกษาครั้งนี้ก็ทำให้ผู้บริโภค ยังคงบริโภคปลาและส้ม รวมถึงอุปโภคน้ำได้อย่างปลอดภัย แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในดินสูง เป็นไปได้ว่า ในอนาคตอาจเกิดปัญหาตามมาได้
          ประเด็นสุขภาพ จากข้อมูลจะเห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร แม้ว่าจะมีความรู้และพฤติกรรมที่ดี แต่เนื่องด้วยเกษตรกรยังคงใช้สารเคมีในปริมาณสูง และหลายชนิดปนกัน การได้รับแม้เพียงเล็กน้อยแต่ต่อเนื่องก็จะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว เรื่องของโรคมะเร็ง ผลงานวิจัยในครั้งนี้จึงถูกนำส่งผ่าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่สำ สู่ชุมชน อย่างน้อยก็จะได้ไม่ประมาท เพิ่มความระมัดระวัง และลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรลงบ้างไม่มากก็น้อย
          ประเด็นสิ่งแวดล้อมในชุมชน สวนส้มตลอดแนวลำน้ำยม อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรได้ หรือ การตรวจพบการปนเปื้อนสารเคมีปริมาณสูงในดิน ด้วยเหตุนี้ทีมผู้วิจัยจึงได้ถ่ายทอดข้อมูลผ่านผู้นำชุมชน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายสุขภาพขึ้น เกิดกลุ่มสวนส้มปลอดสาร เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในอนาคต  การเปลี่ยนแปลงที่ดีทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรสวนส้มยั่งยืนต่อไป

Loading