สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปีการศึกษา 2565 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปีการศึกษา 2565 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปีการศึกษา 2565 ระหว่างวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ หอประชุมมหาราช อาคารองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
          วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร  รองศาสตราจารย์ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร และนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เฝ้ารับเสด็จฯ ณ อาคารองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร
          ในการนี้ ทรงพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2566 จากมหาวิทยาลัยนเรศวรแก่ รองศาสตราจารย์บุญรักษา  สุนทรธรรม ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี และศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล  สกลสัตยาทร ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
          ทั้งนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก โท และตรี เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันแรกคือ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวนทั้งสิ้น 2,455 คน จาก 1 วิทยาลัย 7 คณะ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะมนุษยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
          โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาทความตอนหนึ่งว่า
          “บัณฑิตเมื่อสำเร็จการศึกษา ออกไปฏิบัติงานในสังคม ย่อมปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะช่วยให้คนเราประสบความสำเร็จได้ดังหวังตั้งใจนั้น ก็คือ การรู้จักจัดสรรเวลาให้ได้ประโยชน์  คนเราทุกคนมีเวลาในแต่ละวันเท่ากัน แต่จะใช้เวลาให้มีประโยชน์คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลาของแต่ละคน ผู้ที่ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของเวลา มักจะไม่เร่งทำสิ่งสำคัญตามหน้าที่ของตนให้ลุล่วง แต่จะผัดวันประกันพรุ่ง จนเกิดความผิดพลาดเสียหาย ตรงข้าม ผู้ที่เห็นคุณค่าของเวลา ไม่ว่าจะมีเวลามากหรือน้อยเพียงใด ก็จะจัดสรรเวลาที่มีอยู่ ทำภารกิจทุกอย่างในหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้งานที่ทำสำเร็จผลเป็นประโยชน์ อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในหน้าที่การงานดังตั้งใจมุ่งหมาย ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เห็นความสำคัญของเวลา และสามารถจัดสรรเวลาได้ดี จึงเป็นผู้ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ มากกว่าผู้ที่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ หากบัณฑิตทุกคนนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาให้เห็นจริง ก็เชื่อว่าจะสามารถประกอบกิจการงานให้บรรลุถึงความสำเร็จและความเจริญได้อย่างแน่นอน”

Loading