ผลงานวิจัยระดับดี ประจำปีงบประมาณ 2567 จาก วช. “ผลกระทบของการปลูกยาสูบฯ”

ความสำคัญและที่มาของการวิจัย
          องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญอย่างมากกับการปกป้องคุ้มครองชาวไร่ยาสูบจากอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพจากการเพาะปลูกและการผลิตยาสูบ โดยกำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC) ในมาตราที่ 17 การสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจทดแทนการปลูกยาสูบ และมาตราที่ 18 การปกป้องสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการเพราะปลูกและการผลิตยาสูบและสุขภาพของบุคคล (World Health Organization, 2020) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 180 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมให้สัตยาบันกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก และจำเป็นต้องรับผิดชอบด้วยการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด
         ปัจจุบัน ชาวไร่ยาสูบในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากส่วนแบ่งทางการตลาดของบุหรี่ที่ผลิตภายในประเทศของการยาสูบแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนแบ่งทางตลาดในปี พ.ศ. 2557 ที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.8 ต่อร้อยละ 24.2 ลดลงเหลือเพียงสัดส่วนร้อยละ 59.7 ต่อร้อยละ 40.3 ในปี พ.ศ. 2561 (ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, 2563) นอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว ชาวไร่ยาสูบยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการปลูกและการผลิตยาสูบด้วย
          ที่ผ่านมา ผลการประเมินการตอบสนองต่อ WHO FCTC มาตราที่ 17 และ 18 ของประเทศไทยยังในระดับไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากยังขาดข้อมูลและองค์ความรู้ เกี่ยวกับสภาพปัญหา ความต้องการ และแนวทางการ ขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกและอาชีพ ทดแทนการปลูกยาสูบของชาวไร่ยาสูบในประเทศไทย ดังนั้น ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมอบหมายให้คณะผู้วิจัยดำเนินการศึกษาผลกระทบของการปลูกยาสูบและแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกและอาชีพทดแทนการปลูกยาสูบของชาวไร่ยาสูบในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1 เพื่อศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่เป็นผลมาจากการทำไร่ยาสูบของชาวไร่ยาสูบในภาคเหนือของประเทศไทย
2 เพื่อศึกษาความต้องการเลิกปลูกยาสูบ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการเลิกปลูกยาสูบของชาวไร่ยาสูบในภาคเหนือของประเทศไทย
3 เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกและอาชีพทดแทนการปลูกยาสูบของชาวไร่ยาสูบในภาคเหนือของประเทศไทย
ระยะเวลาที่ทำการวิจัย
         ดำเนินการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 – มกราคม พ.ศ. 2565
สรุปผลการวิจัย
          การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการศึกษาทั้งวิธีการเชิงปริมาณและวิธีการเชิงคุณภาพ โดยการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากชาวไร่ยาสูบที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,816 คน ร่วมกับ การเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 34 คน ประกอบด้วย ตัวแทนชาวไร่ยาสูบ ตัวแทนนักวิชาการ ประจำสถานีใบยาสูบและสำนักงานยาสูบ และตัวแทนจาก สมาคมชาวไร่ยาสูบ ผลการวิจัย พบว่า
คุณภาพชีวิตของชาวไร่ยาสูบ
         ชาวไร่ยาสูบร้อยละ 57.5 มีคุณภาพชีวิตภาพรวมใน ระดับต่ำ โดยคุณภาพชีวิตด้านที่มีสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณภาพชีวิตระดับต่ำมากที่สุดคือ คุณภาพชีวิตด้านสังคม มีกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณภาพชีวิตระดับต่ำคิดเป็นร้อยละ 77.3 รองลงมาคือคุณภาพชีวิตด้านจิตวิญญาณ คุณภาพชีวิตด้านครอบครัว และคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ มีกลุ่มตัวอย่างที่มี คุณภาพชีวิตระดับต่ำคิดเป็นร้อยละ 76.1, 61.3, 60.7 ตามลำดับ ในขณะที่คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและหน้าที่ และ คุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม มีกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณภาพชีวิตระดับต่ำน้อยที่สุด คือ คิดเป็นร้อยละ 49.0 และร้อยละ 34.2 ตามลำดับ
          สอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงคุณภาพที่พบว่า สถานการณ์การถูกลดโควตาปลูกยาสูบมีผลทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบยาสูบลดลง ก่อให้ผลกระทบต่อคุณภาพ ชีวิตในทุกด้าน คือ
คุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ ทำให้ครอบครัวมีรายได้ลดลงจากเดิมประมาณร้อยละ 40 – 50 ส่งผลให้มีความสามารถในการชำระหนี้สินลดลง ทำให้เกิดหนี้สินใหม่ทั้งในระบบและนอกระบบ และขายที่ดินทำกิน
คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ บางส่วนได้ผลกระทบทางสุขภาพ มีปัญหาเรื่องกระดูกและกล้ามเนื้อเนื่องจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และเกิดอาการแสบจมูก และผื่น คันตามผิวหนัง
คุณภาพชีวิตด้านจิตวิญญาณ ทำให้ชาวไร่ยาสูบส่วนใหญ่เริ่มหมดหวัง ความรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองลดลง ความภาคภูมิในในอาชีพลดลง เครียด และความสุขลดลง
คุณภาพชีวิตด้านครอบครัว เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวบ่อยขึ้น ท่องเที่ยวลดลง และไม่สามารถ สนับสนุนด้านการศึกษาของบุตรหลานได้อย่างเพียงพอ
คุณภาพชีวิตด้านสังคม ทำให้เกิดปัญหาลักขโมยใน ชุมชน ปัญหาการใช้สารเสพติด
คุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ
ความต้องการเลิกปลูกยาสูบและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
          ชาวไร่ยาสูบส่วนใหญ่หรือคิดเป็นร้อยละ 58.5 มีความต้องการเลิกปลูกยาสูบ เพราะราคารับซื้อยาสูบตกต่ำ ได้รับโควตาปลูกยาสูบลดลง สุขภาพไม่ดี ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และไม่มีลูกหลานทำต่อ สำหรับอาชีพทางเลือกที่ต้องการทำหลังเลิกปลูกยาสูบ คือ เลี้ยงสัตว์ ปลูกผลไม้ ปลูกไม้ประดับ งานช่าง และปลูกพืชผักสวนครัว
แนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกและอาชีพทดแทนการปลูกยาสูบ ประกอบด้วย 7 ข้อ คือ
ข้อ 1 ประเมินความต้องการเลิกปลูกยาสูบ
          ในขั้นตอนแรกเสนอให้การยาสูบแห่งประเทศไทยทำหน้าที่สำรวจและประเมิณความต้องการเลิกปลูกยาสูบตามความสมัครใจของชาวไร่ยาสูบ และจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
ข้อ 2 ตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ
          เสนอให้การยาสูบแห่งประเทศไทยจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบตามลำดับความสมัครใจโดยเริ่มต้นในกลุ่มแกนนำต้นแบบที่สมัครใจเลิกปลูกยาสูบแบบถาวร
ข้อ 3 กำหนดแนวทางช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ
            สำหรับแนวทางการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบที่ต้องการเลิกปลูกยาสูบแบบถาวร ตามข้อเสนอของชาวไร่ยาสูบ ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือชดเชยเงิน พักชำระหนี้ และให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ
ข้อ 4 พัฒนาศักยภาพด้านการปลูกพืชทางเลือก
            มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมมือกับสถานีใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ศึกษาและเสนอพืชทางเลือกที่มีความป็นไปได้ และเป็นพี่เลี้ยงเชิงรุก ส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือก
ข้อ 5 ส่งเสริมการรวมกลุ่มและพัฒนาภาวะผู้นำ
            ส่งเสริมการรวมกลุ่มที่ชาวไร่ยาสูบโดยจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เพิ่มโอกาสการได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เทคโนโลยการผลิต และด้านการบริหารการจัดการจากหน่วยงานภาครัฐ ควบคู่กับการส่งเสริมสร้างภาวะผู้นำด้วยการขับเคลื่อนในรูปของคณะกรรมการของชุมชน
ข้อ 6 พัฒนาศักยภาพด้านการตลาด
            เสนอให้คณะกรรมการบริหารกองทุนประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการตลาด การตรวจสอบและรักษาคุณภาพ การแปรรูปผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการส่งเสริมด้านการขาย
ข้อ 7 ประเมินผล ถอดบทเรียน และสื่อสารเชิงรุก
            มอบหมายให้หน่วยงานอิสระติดตามและประเมินผลความสำเร็จของแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกและอาชีพทดแทน และถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อนำไปถ่ายทอดและเสริมสร้างแรงจูงใจให้กับชาวไร่ยาสูบที่ยังมีความลังเลไม่กล้าตัดสินใจเลิกปลูกยาสูบ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
            ผลงานวิจัยนี้ตอบสนองต่อกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control : FCTC) ในมาตราที่ 17 การสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจทดแทนยาการปลูกยาสูบ และมาตราที่ 18 การปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและการผลิตยาสูบและสุขภาพของบุคคล
ศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์
          การวิจัยนี้สอดคล้องกับประเด็นรณรงค์และเรียกร้องขององค์การอนามัยโลกในหัวข้อ We need food, not tobacco – Growing sustainable food crop instead of tobacco. โดยเรียกร้องให้ประเทศที่ปลูกยาสูบดำเนินการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารที่ยั่งยืนแทนการปลุกยาสูบ และสร้างสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่เอื้อต่อการผลิตพืชทดแทน
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ
เชิงวิชาการ
– ตีพิมพ์บทความวิจัยเรื่อง Deteriorating quality of life and a desire to stop growing tobacco among Virginia and Burley tobacco farmers in Thailand. JCO Global Oncology, 8. https://doi 10.1200/G0.22. อยู่ในฐานข้อมูล Scopus Q1
– อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณารับตีพิมพ์บทความวิจัยเรื่อง Perspectives of push-pull-mooring effects on a desire for switching to alternative crops among tobacco farmers in Thailand: A qualitative study วารสาร Tobacco Induced Disease อยู่ในฐานข้อมูล Scopus Q1
– รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของ ศจย. ปี 2565 ในการประชุมวิชาการบุหรี่และสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า : ภัยซ่อนเร้นในสังคม" วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2565 ณ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
เชิงสังคม
– ส่งมอบเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์และนำเสนอคืนข้อมูลให้กับคณะทำงานกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายสาธารณะระดับประเทศ
– ส่งมอบเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์และนำเสนอคืนข้อมูลให้กับ World Health Organization : Thailand เพื่อใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าประเทศไทยตอบสนองต่อ WHO FCTC มาตราที่ 17 และ 18
– เผยแพร่ทางเพจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). ห่วงชาวไร่ยาสูบรายได้ลด หนุนทำเกษตรทดแทน. ThaiHealth Official. 27 กันยายน 2564
– เผยแพร่ทางเพจของสำนักข่าวไทยแลนด์พลัสออนไลน์… เพื่อสังคม ส่งเสริมความรู้ และการมีส่วนร่วมสร้างอนาคตสังคมไทย. ขจัดภัยวงจรยาสูบ. วันพุธที่ 31 เดือนพฤษภาคม พศ. 2566.
– เผยแพร่ทางเพจของกรุงเทพธุรกิจ. พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ทางเลือกใหม่ ในวันที่ไม่มียาสูบ. 6 ก.ย. 2565
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่รัฐบาล/กระทรวงต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้วางนโยบาย พัฒนา หรือแก้ไขปัญหา
         1. เนื่องจากผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า ชาวไร่ยาสูบ ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตระดับต่ำ จึงเสนอให้การยาสูบแห่งประเทศไทยในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับชาวไร่ยาสูบเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวไร่ยาสูบอย่างเป็นระบบ
          2. เนื่องจากผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า ยังมีชาวไร่ยาสูบเกือบครึ่งที่ยังไม่มีความต้องการเลิกปลูกยาสูบ จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดวางแผนมาตรการสื่อสารเชิงรุกและแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกและอาชีพทดแทนการปลูกยาสูบอย่างเป็นรูปธรรม
          3. เนื่องจากการวิจัยครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกและอาชีพทดแทน จึงเสนอให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมสรรพสามิตกรมควบคุมโรค กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาถึงความเป็นไปได้และดำเนินการศึกษาวิจัยนำร่อง และขยายผล

Loading