วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้บ้านหรือที่พักอาศัย
ทุกวันนี้เราจะพบข่าวไฟไหม้บ้านหรือที่พักอาศัยบ่อย ๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น บางครั้งก็เกิดขึ้นเพราะความประมาท พลาดพลั้ง จนกลายเป็นอุบัติเหตุ ที่พักอาศัยเป็นที่ที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพักผ่อนหลังกลับจากที่ทำงาน หรือเด็ก ๆ กลับจากโรงเรียน หากเกิดไฟไหม้ครั้งหนึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน สำหรับองค์ประกอบของการเกิดเพลิงไหม้ มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ
-
เชื้อเพลิง ซึ่งจะอยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส ตัวอย่างเชื้อเพลิงของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ น้ำมัน โลหะ พลาสติก เป็นต้น
-
ออกซิเจน ซึ่งจะมีอยู่ในอากาศประมาณ 21% โดยปริมาณ
-
ความร้อน พอเพียงที่จะติดไฟได้ เมื่อมีองค์ประกอบทั้ง 3 ครบแล้วไฟจะเกิดลุกไหม้ขึ้นและเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่
สำหรับสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ เพลิงไหม้เกิดได้หลายสาเหตุ มีทั้งจากความประมาท และการมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ความประมาทในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและแก๊ส การเผาขยะ หญ้าแห้งในที่ที่มีลมแรง ไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจะพบว่าเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเกิดเพลิงไหม้ โดยมักจะมาจากสภาพการใช้งานของสายไฟฟ้า หรือการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ การจุดธูปเทียนบูชาพระ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ เช่นกัน อีกสาเหตุคือการสูบบุหรี่หรือจุดไฟในบริเวณที่มีไอของสารระเหย เช่น น้ำมันเบนซิน ก็อาจทำให้เกิดการจุดติดไฟได้เช่นกัน
วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้กรณีไฟไหม้ติดตัว ติดเสื้อผ้า เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นแล้วจะพบว่ามีคนในที่เกิดเหตุเกิดไฟไหม้ติดตัว หรือเสื้อผ้าออกมาด้วย หากเราไม่รู้วิธีการดับไฟที่ถูกต้อง อาจทำให้ไฟยิ่งลุกโชน และเสี่ยงต่อการถูกไฟคลอกหรือบาดเจ็บสาหัสได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นในการดับไฟเมื่อไฟติดตัว เสื้อผ้า ด้วย 3 ขั้นตอนดังนี้ครับ stop drop และ roll
-
stop คือ หยุดวิ่งทันที หากไฟลุกไหม้ตามเสื้อผ้าหรือร่างกาย เพราะการวิ่งจะทำให้มีลมพัดผ่าน จะโหมไฟให้แรงมากขึ้น
-
Drop คือ นอนราบลงไปกับพื้น ช่วยหยุดไฟไม่ให้ลามไปตามร่างกายส่วนอื่น
-
Roll คือ ให้กลิ้งหรือหมุนตัวไปกับพื้นจนกว่าไฟจะดับ ระหว่างนั้นให้เอามือปิดใบหน้าไว้เพื่อป้องกันด้วย
เมื่อไฟตามเสื้อผ้าหรือร่างกายดับแล้ว และสามารถออกมาจากที่เกิดเหตุได้ ให้รีบถอดเสื้อผ้าออก เพราะเสื้อผ้าจะอมความร้อนเอาไว้มาก ห้ามใช้วิธีกระชากเสื้อผ้า เพราะเนื้อผ้าบางส่วนอาจติดที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกมากับเนื้อผ้า ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือติดเชื้อได้
กรณีเกิดไฟไหม้ อันดับแรกให้ตั้งสติก่อน ไม่ตื่นตระหนก จากนั้นให้ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นว่าเป็นเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงแค่ไหน และอยู่ไกล้ตัวมากแค่ไหน หากเป็นไฟไหม้ระดับรุนแรงและกินพื้นที่เป็นวงกว้าง เกิดขึ้นในบ้านของเรา ให้เตรียมพร้อมออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้และรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์ 199 ทันที กรณีเป็นอพาร์ทเมนต์ที่มีการติดตั้งปุ่มกดเตือนภัย ให้รีบตะโกนบอกทุกคนในพื้นที่ แล้วให้รีบกดสัญญาณเตือนภัยทันที ให้เตรียมพร้อมออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้และรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์
199 ทันที กรณีเป็นไฟไหม้เพียงเล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงค่อยโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาควบคุมเพลิงในบางส่วนที่อาจหลงเหลืออยู่
เมื่อท่านติดอยู่ในที่เกิดเหตุให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกายที่อาจจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ ในกรณีที่เกิดไฟไหม้ข้างนอกและติดอยู่ในห้อง ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตูก่อน หากไม่ร้อนให้เปิดประตูออกไปช้า ๆ และอพยพตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่หากสัมผัสผนังหรือลูกปิด พบว่า มีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะจะตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิง และในการอพยพหนีไฟห้ามใช้ลิฟท์ เพราะเมื่อเกิดไฟไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟท์ ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้
สำหรับที่พักหรืออพาร์ทเมนต์ให้ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ ซึ่งจะช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย และไม่ควรใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่องทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยขึ้นมาปกคลุม เสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิต
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สุดท้ายอยากจะฝากข้อมูลนี้ให้ท่านได้นำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่บ้านหรืออาคารที่พักอาศัย อย่าลืมเมื่อเกิดเหตุต้องตั้งสติก่อน และจดจำเบอร์โทร 199 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้เข้ามาช่วยเหลือ