การดูแลสุขภาพด้วยการใช้ตำรับยาสมุนไพรจากบัญชียาหลักแห่งชาติ

           สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟังทุกท่าน วันนี้พบกับรายการ “สาธารณสุข สร้างสุข” กับดิฉัน อ.นันทิกา พรหมมี อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วันนี้เราได้กลับมาพบกันอีกครั้งแล้วนะคะ
           • ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คงเป็นคำยอดฮิตสำหรับฤดูฝนของบ้านเรากันในช่วงนี้นะคะ และจากข้อมูลของประทรวงสาธารณสุขในด้านของสถิติการเกิดโรคจาก ข้อมูล Health Data Center (HDC) พบผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ จะพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และกลุ่มวัยกลางคน อายุ 30 -45 ปี โดยจะพบอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ มากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ในระหว่างปี 2560 – 2565 พบผู้ป่วยทั้งหมดจ่านวน 40,316 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2565) และจากสถิติการเกิดโรคข้างต้น จะพบว่าอาการไอจะเป็นอาการที่พบได้บ่อยเวลาเกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
           • โดยอาการไอนั้น จะสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายประการ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หอบหืด ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น ในปัจจุบันอาการไอมักพบได้หลังจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือแม้แต่กระทั่งภาวะ Long Covid-19 ซึ่งจะพบทั้งอาการไอแบบแห้ง ๆ ระคายเคืองคอ และไอแบบมีเสมหะ
           • สำหรับทางการแพทย์แผนไทยนั้น มีการใช้ยาสมุนไพรทั้งรูปแบบยาเดี่ยวและยาตำรับในการรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการไอ แบบมีเสมหะ และไอแห้ง ซึ่งจากข้อมูลในบัญชียาหลักแห่งชาติ (สมุนไพร) ตั้งแต่ปี 2556 พบว่า มีตำรับยารักษาอาการไอทั้งสิ้น 7 ตำรับ ซึ่ง 2 ตำรับที่นิยมใช้โดยทั่วไป ได้แก่ ตำรับยาประสะมะแว้งและตรีผลา โดยข้อมูลจากบัญชียาหลักแห่งชาติมีการระบุ “ตำรับยาประสะมะแว้ง” ประกอบด้วยสมุนไพร 7 ชนิด ได้แก่ มะแว้งต้น มะเว้งเครือ กะเพรา ใบสวาด ใบตานหม่อน ขมิ้นอ้อย และสารส้มสะตุ โดยรสยาของตำรับสุขุมร้อน ประกอบไปด้วยสมุนไพรเดี่ยวที่มีรสยาฝาด เปรี้ยว และเผ็ดร้อน สรรพคุณทางการแพทย์แผนไทยจะช่วยขับเสมหะ กระจายลม บำรุงธาตุ โดยสมุนไพรเดี่ยวในตำรับประสะมะแว้งหลายชนิด เช่น มะแว้งต้นและมะแว้งเครือมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ลดการอักเสบ นอกจากนี้ ขมิ้นอ้อย ใบกะเพราะ มีรสเผ็ดร้อน จะช่วยกระจายเลือดลมให้ไหลเวียนดี ช่วยเสมหะ มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา แก้ปวด มีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
           • และส่วนอีกหนึ่งตำรับที่น่าสนใจ คือ ตำรับตรีผลา (ตรี แปลว่า 3 ผลา แปลว่าผลไม้) คือ ตำรับที่ประกอบด้วยผลไม้ 3 อย่าง ได้แก่ สมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม โดยมีรสยาของตำรับคือ รสเปรี้ยวฝาด มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย แก้ไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งทางการแพทย์อายุรเวทอินเดียยกย่องให้เป็นสมุนไพรที่โดดเด่นในด้านการปรับสมดุลธาตุ สามารถบำรุงและฟื้นฟูร่างกายองค์รวมทุกระบบให้แข็งแรง และทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ (Wissakdilok, 2012) อีกทั้ง มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตำรับตรีผลา พบว่าตำรับตรีผลามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายชนิด ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
           • จากการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าตำรับยาสมุนไพรยาแก้จากบัญชียาหลักแห่งชาติทั้ง 2 ตำรับนั้น มีข้อมูลรายงานวิจัยเกี่ยวกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการไอ โดยทีมคณะผู้วิจัยของสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยตำรับยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะจากบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งนี้ ข้อมูลงานวิจัยครั้งนี้ถือเป็นข้อมูลสนับสนุนการใช้ตำรับยาแก้ไอตามบัญชียาหลักแห่งชาติและแพทย์พื้นบ้าน และในอนาคตควรมีการศึกษาและวิจัยต่อยอดในการศึกษาทางคลินิกต่อไป
           • สำหรับข้อมูล “ตำรับยาไทยเพื่อใช้สำหรับบรรเทาอาการไอบนหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์" ในงานวิจัยทางแพทย์แผนไทยประยุกต์ในวันนี้ ดิฉันหวังว่าคงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังทุกท่านไม่มากก็น้อยนะคะ
           • หากมีข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่คลินิกอาศรมทางหน้า page Facebook หรือโทรศัพท์ 055 967 449
           • แล้วพบกับรายการสาระความรู้ดี ๆ ที่รายการสาธารณสุข สร้างสุขในครั้งต่อไปนะคะ ขอให้ผู้ฟังทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงนะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ 
รายการ : สาธารณสุข สร้างสุข
เรื่อง : การดูแลสุขภาพด้วยการใช้ตำรับยาสมุนไพรจากบัญชียาหลักแห่งชาติ
ผู้ดำเนินรายการ : ดร.นันทิกา พรหมมี กลุ่มสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 18.30 – 19.00 น.
ผ่านคลื่น : F.M.107.25 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร
#วิทยุเพื่อการศึกษาสร้างปัญญาสู่มวลชน

Loading