เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 กรมชลประทาน จัดงานแถลงข่าว “ความก้าวหน้าโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม จังหวัดพิษณุโลก” โดยมี นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางให้เกียรติเป็นประธาน และลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ เผยความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำหรับประตูระบายน้ำ (ปตร.) ท่านางงาม เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานในเขตจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่างรวม 4 แห่ง ได้แก่ ปตร.ท่านางงาม ปตร.ท่าแห ปตร.วังจิก และปตร.โพธิ์ประทับช้าง ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 2 แสนไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง บรรเทาความเดือดร้อนทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กล่าวว่า “เนื่องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว การพัฒนาแหล่งน้ำจึงเป็นปัจจัยหลักในการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่เกษตรกร แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำยมซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก มีลักษณะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทานจึงวางแผนการก่อสร้างประตูระบายน้ำตลอดช่วงแม่น้ำยมตอนล่างรวม 4 แห่ง ได้แก่ ปตร.ท่านางงาม ปตร.ท่าแห ปตร.วังจิก และปตร.โพธิ์ประทับช้าง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังช่วยชะลอน้ำในการผันน้ำเข้าแก้มลิงต่างๆ ในช่วงน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและป้องกันการกัดเซาะตลิ่งบ้านเรือนของราษฎรได้อีกด้วย หากดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 4 โครงการนี้แล้วเสร็จ นับเป็นอีกหนึ่งหลักชัยความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ โดยได้กำหนดแผนการก่อสร้างทั้ง 4 โครงการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็วที่สุด”
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดประตูเหล็กบานโค้งจำนวน 5 บาน สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้ประมาณ 11.10 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (ปี พ.ศ. 2562 – 2566) ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 51,375 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 2,568 ครัวเรือน ปัจจุบันดำเนินการเกือบแล้วเสร็จ แต่สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี พ.ศ. 2566 นี้
“นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้วางแผนรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดความแห้งแล้งและอากาศร้อนจัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะยืดเยื้อต่อเนื่องและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปจนถึงราวกลางปี พ.ศ. 2567 ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมกันนี้ ยังได้ให้หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน จัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ หรือภาชนะสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะถึงฤดูฝนปีหน้า ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ” นายสิริพลฯ กล่าวในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์