เรามาร่วมแสดงความยินดี กับผลงานรางวัลชนะเลิศ ในระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ นักวิจัยและบุคคลทั่วไปจาก กลุ่ม Heavy Weight ของ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล 50,000 บาท ในการแข่งขันนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2022 จัดเมื่อวันที่ 7 – 9 ตุลาคม 2565 ณ ลานคนเมือง ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดย สวทช. โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)
สมาชิกในทีมประกอบด้วย
-
รศ.ดร.สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
-
ผศ.ดร.เหรียญทอง สิงห์จานุสงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
-
อ.ดร.เสาวลักษณ์ รุ่งแจ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
-
ผศ.ดร.สนธยา นุ่มท้วม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
-
รศ.ดร.รังสรรค์ เจริญสุข อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
-
นางสาวจิรัชญา จัดพล นิสิตระดับปริญญาเอก คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
-
นางสาวชญานิศ ศรีงาม นิสิตระดับปริญญาเอก คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
นางสาวจิรัชญา จัดพล ตัวแทนนิสิตระดับปริญญาเอก คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เล่าให้ฟังว่า “ที่มาของผลิตภัณฑ์ เป็นเต้าหู้ก้อนไข่ขาวในน้ำพะโล้ จริง ๆ ที่มาเราตั้งใจจะทำผลิตภัณฑ์ที่ ทานง่ายดีต่อสุขภาพเหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยที่เราเล็งไปที่ผู้ป่วยเรื้อรังต่าง ๆ หรือผู้สูงอายุที่จะต้องทานไข่ขาวในปริมาณที่เยอะ ๆ ต่อ 1 วัน โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องทานไข่ขาวให้ได้ 6 ฟอง ต่อ 1 วัน ซึ่งเขาจะทานได้ยากมาก แค่ไม่กี่คำเขาก็จะเบื่อ และก็เนื้อสัมผัสของไข่ขาวจะมีความแข็งกลืนยาก เราก็เลยทำผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นเต้าหู้ก้อนไข่ขาวในน้ำพะโล้ ที่มีเนื้อสัมผัสที่นิ่มเคี้ยวง่ายทานง่ายกลืนง่าย แล้วก็อร่อย คุณค่าทางโภชนาการเต้าหู้ของเราก็คือ 1 แพ็ค ประกอบด้วยไปด้วย 2 ไม้ คือ ให้โปรตีนสูง 25 กรัม เทียบเท่ากับไข่ขาว 6 ฟอง แล้วก็ไม่มีไขมันด้วย แล้วก็พลังงานต่ำด้วย” นางสาวจิรัชญา เล่าให้ฟัง
รศ.ดร.รังสรรค์ เจริญสุข อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้อยู่ในช่วงของกำลังปรับปรุงในเรื่องของการยืดอายุการเก็บรักษา ตอนนี้เราทำแบบแรกเราทำเป็นแบบพาสเจอร์ไรส์อายุการเก็บรักษาอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ตอนนี้เรากำลังพัฒนาเรื่องการยืดอายุการเก็บรักษาให้ได้นานขึ้น ประมาณ 6 – 1 ปี ด้วยวิธีการฆ่าเชื้อแบบสมบูรณ์ วิธีการรับประทานทำได้หลากหลายเลย ก็คือนอกจากจริง ๆ แล้วแกะออกมาก็รับประทานได้เลย รสชาติก็จะคล้าย ๆ เต้าหู้พะโล้ หรือจะไปอุ่นกับไมโครเวฟด้วยความร้อน แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่อร่อยมากซึ่งเราลองย่างกัน พอเอาไปย่างความอร่อยยิ่งเพิ่มขึ้นย่างกับซีอิ้ว แล้วก็รสชาติเนื้อสัมผัสเหมือนกับเนื้อสัตว์เลยแต่จะนุ่มกว่า แล้วก็จะอร่อยกว่า ทานง่ายกว่าไข่ข่าวต้มทั่ว ๆ ไป เราได้ลองสำรวจผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงในท้องตลาด ก็คือเทียบราคาต่อเงิน 100 บาท ที่จ่ายไปเทียบเป็นโปรตีน ผลิตภัณฑ์ของเราเต้าหู้ NU – Egg ให้โปรตีนสูงที่สุด” รศ.ดร.รังสรรค์ เล่าให้ฟัง
ดร.วาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้เรามาอยู่กับประเทศไทย 60 กว่าปีแล้ว ตอนนี้เป็นปีที่ 65 เราเชี่ยวชาญทางด้านอาหาร และจะเป็นอาหารทางด้านตะวันตก เพื่อจะนำมาให้กับผู้บริโภคในประเทศ เราผลิตและจัดจำหน่ายในตราสินค้าของเราเอง ที่เป็นที่รู้จักดีก็คือ อิมพีเรียล อลาวรี่ แดรี่โกลด์ และเรายังนำเข้าผลิตภัณฑ์จากทั่วโลก เอามาวางให้กับผู้บริโภคในประเทศไทยได้มีโอกาสลิ้มรสของที่มาจากทั่วโลกในราคาที่ยุติธรรม
ดร.วาทิต เล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสาเหตุที่สนใจนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ คือหนึ่งในสิ่งที่เราพยายามจะทำในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นก็คือ เราอยากจะนำเสนอ ก็คือฟู้ด เมดิซิน และทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้อาหารที่ทำจากนม เดี๋ยวนี้ Plant Based ค่อนข้างจะเป็นที่นิยมมากขึ้น เราก็พยายามที่จะมองหาสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่จะเดินออกไปทำให้มีทางเลือกมากขึ้น ก็เลยเดินไปเจองานวิจัยของนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรในงานฟู้ดอินโนโพลิส เราค่อนข้างจะประทับใจและเห็นว่ามันน่าจะมีโอกาสที่จะนำไปต่อยอด ดูว่ามีโอกาสจะทำออกไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไปนำเสนอผู้บริโภคให้เป็นทางเลือกให้เขาได้ไหม เราก็เลยอยากจะมาร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อที่จะต่อยอดเพราะว่าสิ่งที่เคซีจีปฏิบัติอยู่เราจะบริหารจัดการบนกรอบของ sustainable development เพราะฉะนั้นหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมและชุมชนเป็นพาร์ทหนึ่งของการทำงานของเรา
ดังนั้น เราจะหาโอกาสออกมาสนับสนุนภาครัฐและภาควิชาการตลอดเวลา ยิ่งฟังนโยบายการบริหาร วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ผมเห็นอะไรที่เราสามารถจะร่วมมือกันได้อีกเยอะแยะมากมาย เพราะเราก็จะมองไปถึงเรื่องการเป็นผู้ปฏิบัติการ ผู้ประกอบการ ซึ่งเคซีจีมีประสบการณ์จริง สามารถที่จะนำมาถ่ายทอดให้กับนิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ เราดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งก็ตรงกับของเคซีจี เราก็ดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะเอาภาควิชาการกับภาคปฎิบัติการมารวมกัน ผมฟังพวกเรามีเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ คาร์บอนเครดิต Net Zero เป็นสิ่งที่เคซีจีทำอยู่ทุกวันนี้เลย เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยนเรศวรสามารถที่จะเชิญเคซีจี หรือพนักงานจากทางเคซีจี ไปเป็นตัวอย่างเล่าให้กับองค์กรอื่น ๆ ผู้ประกอบการอื่น ๆ ว่าของเหล่านี้ทำได้ไม่ยาก และมันทำได้จริงและเรายินดีที่จะสนับสนุน” ดร.วาทิต เล่าให้ฟัง