นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก สำหรับประเทศไทย ใน พ.ศ. 2566 ได้กำหนดประเด็นรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” เพื่อใช้เป็นแนวทางการสื่อสารรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบในทิศทางเดียวกันตลอดปี โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
1. เพื่อมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ถึงอันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า
2. เพื่อให้รู้ถึงอันตรายของสารพิษต่าง ๆ ที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า
3. เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า
4. เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงปัญหาและอันตรายของสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้า
นายแพทย์ศรายุธ ฯ แนะนำวิธีการเลิกบุหรี่ ดังนี้
1. สร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง เช่น ทำเพื่อสุขภาพหรือคนที่เรารัก อาทิ ลูก พ่อ แม่ ภรรยา สามี ฯลฯ
2. ขอคำปรึกษาที่คลินิกหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อใช้วิธีเลิกบุหรี่อย่าง ถูกวิธี
3. ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง โดยวางแผน กำหนดวันที่จะลงมืออย่างชัดเจน
4. อย่ารอช้าให้รีบลงมือทันที เตรียมตัวให้พร้อม หาตัวช่วยลดความอยากบุหรี่ เช่น ลูกอม หมากฝรั่ง ทำงานอดิเรก
5. ห่างไกลสิ่งกระตุ้น หลีกเลี่ยงกิจกรรม สถานที่ได้รับสูดดมควันบุหรี่หรือมีผู้สูบบุหรี่
6. ไม่หมกมุ่น ไม่ทำให้ตัวเองเครียด เพราะยิ่งเครียดยิ่งเลิกสูบบุหรี่ยาก
7. ไม่หวั่นไหวทำจิตใจให้มั่นคง หมั่นทบทวนแรงจูงใจหรือเหตุผลที่เลิกบุหรี่ และมุ่งมั่นอย่าหวั่นไหว
8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามารถลดความเครียดได้
9. ไม่คิดกลับไปท้าทายบุหรี่ ด้วยการกลับไปสูบเป็นครั้งคราว จะทำให้เลิกบุหรี่ไม่ได้
10. อย่าท้อแท้กับการต้องเริ่มต้นใหม่ ให้กำลังใจตนเองอยู่เสมอว่า “ต้องเลิกบุหรี่ให้ได้” เพียงตั้งใจเชื่อว่าทุกคนที่ตั้งใจเลิกบุหรี่ต้องชนะและทำสำเร็จได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422 และสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร. 1600
“บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย”
ข้อมูลกรมควบคุมโรค
รวบรวมและเผยแพร่โดย กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก กรมควบคุมโรค
เบอร์โทร. 055-214-615-7 ต่อ 334
https://www.facebook.com/dpc2news/