บ้านนาต้นจั่น รูปแบบธุรกิจท้องถิ่น ที่พัฒนามาจากงานวิจัย

บ้านนาต้นจั่น รูปแบบธุรกิจท้องถิ่นที่พัฒนามาจากงานวิจัย
          การท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะ “บ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย” ที่เป็น 1 ใน 2 หมู่บ้านโฮมสเตย์ในไทยที่ได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2012 ประเภทการอนุรักษ์ภูมิปัญญา จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2555 และมีรายได้หมุนเวียนในชุมชนกว่า 45 ล้านบาท จากแผนแม่บทที่มาจากงานวิจัยถึง 20 ปี
          รศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการวิจัยรูปแบบจัดการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ของธุรกิจชุมชน ในเส้นทางเมืองมรดกสุขโขทัย และพื้นที่เชื่อมโยง (กำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์) ได้กล่าวถึงงานนวิจัยชิ้นนี้ว่า เริ่มตั้งแต่สำรวจทรัพยากรทั้งหมด ที่เป็นการเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ทั้งทางประวัติศาสตร์ ทั้งชุมชน แล้วประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว นับว่าเป็นครั้งแรกเลยที่สำรวจ สร้างแบบดัชนี ประเมินและไปค้นคว้าทุกหมู่บ้านเกือบ 400 จุดทั่วภาคเหนือตอนล่าง
          แล้วก็สุดท้ายก็มาวิเคราะห์ว่ารูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างไร และทำอย่างไรดีชุมชนจะได้ประโยชน์สูงสุด พอเราเริ่มศึกษาวิจัยจึงค้นพบว่า สินค้าท่องเที่ยวทั้งหมดที่คนที่มาท่องเที่ยวตรงนี้ ต้องการสินค้าที่เบา สบาย สามารถถือขึ้นเครื่องได้ เพราะว่าที่มีอยู่เป็น ปั้นหม้อ ไม้แกะสลัก สินค้าหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องทองราคาแพง จนถึงของป่า แต่มีสิ่งเดียวที่สามารถจะนำไปสู่การค้า เป็นของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวได้ คือผ้าทอ อันนี้คือจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยว
          ต่อไปก็เริ่มสนใจศึกษาหมู่บ้านต่าง ๆ ในภาคเหนือตั้งแต่เพชรบูรณ์ บ้านเข็กน้อย กำแพงเพชร พิษณุโลก ตั้งแต่เมื่อปี 2547 ว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่เคยทำโฮมสเตย์เลย ได้เข้าสู่ระบบมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย บ้านนาต้นจั่นมีองค์ประกอบพื้นฐานบางอย่างพร้อมเพรียง เช่น ความสามัคคีในชุมชน ความที่อยากจะเป็น อยากจะทำเรื่องการท่องเที่ยวมีความสนใจใฝ่รู้ จัดประชุมได้ แล้วก็มีความหนาวเย็น ท่ามกลางความร้อนของภาคเหนือที่นี่หนาวเย็น เพราะโฮมสเตย์ไทยห้ามติดแอร์ ที่นี่มีทรัพยากรพร้อม จึงนำไปสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน จนเกิดเป็น แผนแม่บทการท่องเที่ยวชุมชนบ้านนาต้นจั่น ที่มีการประชุมกันทุกวันที่ 7 ของเดือนเป็นเวลา 1 ปี ปีที่ 2 จึงเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ กระทั่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ต้นแบบให้ศึกษาดูงาน โดยการบริหารจัดการในชุมชนนี้มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ บ้านเจ้าของโฮมสเตย์ ชุมชน และแกนนำริเริ่ม
          คุณสุพจี นิลอุบล กงศุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำประเทศไทย และอนุกรรมาธิการท่องเที่ยว วุฒิสภา เป็นหนึ่งในผู้ที่ประทับใจในการไปใช้บริการที่โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ซึ่งตอนแรกคิดว่าคงเหมือนทั่ว ๆ ไปที่มีความเป็นชาวบ้าน แต่เมื่อได้พักเพียง 1 คืน เหมือนได้ชาร์ตแบตให้ร่างกาย ทั้งบรรยากาศที่ดี อาหารการกินอร่อย การบริหารจัดการน่าชื่นชม การที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ให้การสนับสนุนอาจารย์และนักวิจัยนำองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชน ถือเป็นแนวคิดที่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เพื่อให้องค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยได้กระจายลงไปช่วยเหลือชุมชน ขอชื่นชมมาก ๆ นับเป็นความสำเร็จที่ทีมของ รศ.ดร.วศิน และความสำเร็จของมหาวิทยาลัย ความสำเร็จของสุโขทัย พิษณุโลกและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง
          ปัจจุบันโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ได้ดำเนินการโดยชุมชนที่เข้มแข็ง ภายใต้การถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ลูกหลานของคนในชุมชน ที่หันกลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติอย่างกว้างขวาง เป็นธุรกิจที่สามารถหล่อเลี้ยงชุมชนได้อย่างยั่งยืน

Loading