“เรามีปัญหาด้านการเงินในการเรียน เราไม่สามารถกู้ กยศ.เหมือนเพื่อน ๆ ได้ แล้วก็ในการเรียน เราอยากจะเรียนบางด้าน เราไม่สามารถสมัครได้เพราะว่าต้องมีสัญชาติ เช่น พยาบาล รับราชการครู เราก็ไม่สามารถเรียนได้ ถ้าสมมติว่าหนูได้สัญชาติแล้ว หนูก็อยากจะรับราชการครู ซึ่งมันเป็นงานที่มั่นคง เป็นงานที่ได้ช่วยเหลือนักเรียน ได้สอน มีประโยชน์ต่อสังคม” นี่คือผลกระทบส่วนหนึ่งจากผู้ที่ไม่มีสัญชาติ และอาจจะพลาดโอกาสในการประกอบอาชีพที่ตนเองต้องการ
ผศ.กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟังว่า “โครงการคลินิกกฎหมายนเรศวร นี้ มีตั้งแต่การตั้งเป็นคณะนิติศาสตร์แล้ว ดูแลให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายมาโดยตลอด แต่เราเพิ่งแยกตัวออกมาเป็นโครงการคลินิกกฎหมายนเรศวร เพื่อที่จะดูแลคนที่มีปัญหาไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เมื่อปี 2553 เรียกว่าเป็นคลินิกที่รักษาโรคในรัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นโรคเฉพาะทางสำหรับกลุ่มคนที่มีปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากว่าเราเจอว่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมีหลาย ๆ จังหวัด มีอาณาเขตติดกับต่างประเทศ เช่น จังหวัดตากก็ติดกับเมียนมา เราก็เลยเจอกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว รวมถึงในมหาวิทยาลัยนเรศวรเราเอง เลยมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ถ้าเป็นกลุ่มนิสิตไร้สัญชาติตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันนี้ก็ประมาณ 30 กว่าคน แต่ว่าเท่าที่เราบันทึกข้อมูลไว้จะมี 27 คน โดยใน 27 คนนี้ ปัจจุบันยังเรียนหนังสืออยู่ประมาณ 10 คน แล้วที่จบไปแล้วประมาณ 17 คน ใน 17 คน ได้รับการรับรองสิทธิ์มีสัญชาติไทยไปแล้วประมาณ 14 คน เหลืออีกประมาณ 2 – 3 คน จะเป็นกลุ่มที่เกิดนอกประเทศไทย 2 คน แล้วก็เกิดในประเทศไทยอีก 1 คน แต่ว่านิสิตเหล่านี้ เขาประสบปัญหาเรื่องของสถานะการเงิน เขาก็เลยจะต้องดูแลตัวเองก่อนก็เลยทำให้การยื่นคำร้องของเขาช้ากว่าคนอื่น
ส่วนมากนิสิตจะมาด้วยปัญหาก็คือว่าเขาอยากจะมีสัญชาติไทย ก็คือเด็ก ๆ จะรู้แค่ว่าตอนนี้หนูยังไม่มีบัตรประชาชนหนูอยากได้บัตรประชาชน แล้วเขาก็จะถามว่าจะทำยังไง เราก็จะต้องสอบถามเขาในเบื้องต้นก่อนว่า นิสิตเหล่านั้นเขาเกิดในประเทศไทย หรือเกิดนอกประเทศไทย ซึ่งถ้านิสิตเกิดในประเทศไทยก็จะต้องไปเริ่มจากการมีหนังสือรับรองการเกิดหรือสูติบัตร ซึ่งพอนิสิตทราบแล้วว่าเขาจะต้องทำอะไร เขาก็จะกลับไปดำเนินการด้วยตัวเอง สำหรับนิสิตบางคนเขาไม่เข้าใจว่าจะต้องดำเนินกระบวนการแบบไหน ทางเราก็จะมีการทำความเห็นทางกฎหมาย แล้วก็แจ้งไปที่อำเภอให้อำเภอช่วยรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วก็รับคำร้องของนิสิต อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่คลินิกกฎหมายช่วยนิสิตได้ในเรื่องของสัญชาติ
สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการจะมีกำหนดไว้ตามกฎหมาย เช่น ถ้าเกิดเรามีพยานหลักฐานครบยื่นคำร้องไปจะใช้เวลาพิจารณาคำร้องประมาณ 15 วัน เพื่อที่จะบอกเราว่าตอนนี้เขาเริ่มกระบวนการรับคำร้องแล้ว หลังจากนั้นจะนัดซ้อมพยานหลังจาก 15 วัน ซึ่งกระบวนการถ้าเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทยแล้วจะขอหนังสือรับรองการเกิดจะใช้เวลาในการขอรวมระยะเวลาที่เขาสอบพยานด้วยจะไม่เกิน 3 เดือน ถึงจะได้หนังสือรับรองการเกิดหรือสูติบัตรมา ซึ่งหลังจากที่มีเอกสารรับรองการเกิดเรียบร้อยแล้วเขาก็จะต้องไปสู่กระบวนการที่จะขอรับรองสิทธิ์มีสัญชาติ ซึ่งกระบวนการรับรองสิทธิ์ในสัญชาติจะใช้เวลาอีกประมาณปีกว่า ก็จะเริ่มตั้งแต่รวบรวมพยานหลักฐาน ยื่นนายอำเภอพิจารณา แล้วก็ตรวจสอบประวัติอาชญากร ในกรณีที่อายุ 18 ปีขึ้นไป แล้วก็ส่งไปในระดับกรม กรมการปกครองจะตรวจสอบเอกสารอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็จะตอบกลับมา โดยคร่าว ๆ จะประมาณนี้” ผศ.กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟัง
ด้านนางสาวอลิษา ตัวแทนนิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟังว่า “พ่อแม่ของหนูย้ายมาจากประเทศพม่า เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบก็คือพม่ากับรัฐกะเหรี่ยงเขามีการสู้รบกัน ก็เลยทำให้พ่อกับแม่อพยพมาอยู่ตรงชายแดนของอำเภอท่าสองยางจังหวัดตาก
สำหรับตัวหนูก็คือตั้งแต่ตอนหนูเข้ามาเรียน ป.ตรี เรามีปัญหาทางด้านทุน ด้านเงินในการเรียน ก็คือเราไม่สามารถกู้ กยศ.เหมือนเพื่อน ๆ ได้ ในการเรียนเราอยากจะเรียนบางด้านเราไม่สามารถสมัครได้เพราะว่า ต้องมีสัญชาติ เช่น พยาบาล รับราชการครู เราก็ไม่สามารถเรียนได้ การเดินทางลำบากมาก กว่าเราจะมาได้เราต้องไปขอหนังสือรับรองซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก
ตอนนี้ก็คือหนูยังไม่ได้สัญชาติ ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการ โดยมีท่านอาจารย์กิติวรญา ช่วยให้คำปรึกษาให้คำแนะนำ ทำให้เข้าใจกระบวนการหลาย ๆ อย่างมากขึ้น ถ้าสมมติว่าหนูได้สัญชาติแล้วหนูก็อยากจะทำงานแบบรับราชการครู ซึ่งเป็นงานที่มั่นคง ได้ช่วยเหลือนักเรียน ได้สอนมีประโยชน์ต่อสังคม” นางสาวอลิษา ตัวแทนนิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟัง
ผศ.กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าเสริมให้ฟังอีกว่า “ต้องขอบคุณนิสิตที่เข้ามาเป็นกรณีศึกษาให้ เพราะว่านิสิตที่เข้ามาปรึกษา จะขออนุญาตตัวนิสิตทุกคนด้วยเหมือนกัน ว่าเราจะขอนำเรื่องราวของนิสิตเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้กับนิสิตคณะนิติศาสตร์ซึ่งเรามีวิชาหลาย ๆ วิชา ที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้เหมือนกัน เช่น วิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล, วิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน, วิชาวิจัยทางนิติศาสตร์ ซึ่ง 3 วิชานี้ จำเป็นที่จะต้องมีตัวอย่างกรณีศึกษาซึ่งอาศัยเหล่าข้อเท็จจริงจากนิสิตที่ไร้สัญชาตินี้นำมาใช้เป็นกรณีศึกษาที่เรียนรู้กันในหมู่นิสิตคณะนิติศาสตร์ แล้วเราก็จะเอาไปหาทางออกให้ เนื่องจากปัญหาที่เขาเจอเป็นปัญหาในเชิงวิชาการ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องนำกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลมาปรับใช้ เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ ในคณะนิติศาสตร์ ก็จะได้เล่าเรียนเรื่องราวของรุ่นพี่ต่าง ๆ ที่เป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยของเรา
นอกจากนี้ กรณีศึกษาเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่เรานำไปใช้ในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายนโยบายในระดับประเทศไม่ว่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เป็นกลุ่มนิสิตเองนำไปสู่การยื่นข้อเสนอเพื่อขอแก้ไขตัวพระราชบัญญัติของ กยศ. เรื่องเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน กยศ.ว่าจากเดิมกำหนดไว้ว่าบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ในการกู้ยืม ตรงนี้ก็ควรที่จะขยายไปจนถึงบุคคลทุกคนที่เรียนในสถานศึกษาในประเทศไทยด้วย หรือแม้แต่เรื่องของนามสกุลเหมือนกันจะมีประเด็นปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติชื่อสกุลซึ่งเป็นกฎหมายดั้งเดิมของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2400 กว่า ๆ ในช่วงนั้นเราก็กำหนดไว้ว่าคนที่จะขอตั้งนามสกุลได้ ก็จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้เราก็จะเห็นได้ว่า คนที่เป็นคนไร้สัญชาติ เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แล้วเขาเองก็มีความต้องการที่จะได้บริโภคสิทธิ์ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา เขาก็ควรที่จะสามารถที่จะตั้งนามสกุลของตัวเองได้ ซึ่งตรงนี้กฎหมายทั้ง 2 ตัวที่อาจารย์กล่าวมาก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการแก้ไขกฎหมายอยู่ เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย
สำหรับนิสิตถ้าตัวเองกำลังคิดว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นคนรัรัฐ ไร้สัญชาติหรือเปล่า แล้วอยากจะเข้ามาตรวจสอบว่าสิทธิ์ของตัวเอง นิสิตสามารถที่จะติดต่อมาได้ที่คณะนิติศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานคณะนิติศาสตร์ โทรศัพท์ 0 5596 1700 หรือจะเข้าไปใน Facebook เพจคลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายอาจารย์ฝากไว้สำหรับกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของปัญหาอยากให้เราเริ่มแก้ปัญหาจากตัวเราเองต่อให้มาหาอาจารย์ อาจารย์ก็ช่วยให้คำแนะนำได้เท่านั้น แต่บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการที่จะแก้ปัญหาก็คือตัวนิสิตหรือเจ้าของปัญหา ก็ฝากให้กำลังใจทุก ๆ คน ถ้ามีอะไรที่คลินิคกฎหมายเราช่วยได้ ติดต่อมาได้เลย เราพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ” ผศ.กิติวรญา กล่าวฝากทิ้งท้าย