ห่วงเยาวชนไทยเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย หลังพบขายบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมออนไลน์จำนวนมาก

          รศ.ดร.อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยงานวิจัยล่าสุด เรื่อง “การสำรวจเยาวชนไทยในสถานศึกษา ปี 2564” โดยสำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเสี่ยงสูง คือ เยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ที่ศึกษาอยู่ระดับมัธยมปลาย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ของแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย 12,948 คน พบว่า ภาพรวมความชุกของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทย 3.4% (สูบบุหรี่มวน 42% สูบทั้งคู่ 2.4%) โดยภาคเหนือมีความชุกมากที่สุด 4.6% รองลงมาคือ กทม.และปริมณฑล 4.1% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 3.6% ภาคกลาง 2.3% และภาคใต้ 2.2% เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบตามลำดับดังนี้ อุดมศึกษา 4.6% อาชีวศึกษา 4.2% และมัธยมปลาย 1.6% ซึ่งสัดส่วนผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การที่เยาวชนเข้าชมสื่อสังคมออนไลน์ในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยถ้าเข้าชมเกือบทุกวัน มีโอกาสใช้บุหรี่ไฟฟ้า 3.7% และโอกาสใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 7.7 เท่า ของคนที่ไม่เคยเข้าชมสื่อสังคมออนไลน์

          ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสาร ได้อ้างถึง ผลการศึกษา “การสื่อสารการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อสังคมออนไลน์ ปี 2564” พบว่า มีการขายและส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อสังคมออนไลน์ สูงถึง 300 ID (เจ้า) ใน 6 แพลตฟอร์ม โดย Website มีสัดส่วนสูงที่สุด คือ 23%, Line 21%, Youtube 20%, Facebook 15%, Twitter 12% และ Instagram 9% ซึ่งการที่ Website สูงสุด เนื่องจากแพลตฟอร์มอื่นเริ่มมีการปิดบัญชีผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้จำนวนผู้ค้าหรือร้านค้าใน Facebook และ Instagram ลดลง ผู้ค้าใช้ Line เป็นช่องทางติดต่อกับลูกค้ามากที่สุดเพราะมีความเป็นส่วนตัว ส่วน Youtube มีผู้ค้าสูงเป็นอันดับ 3 เพราะไม่ควบคุมการรีวิวบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ผู้ค้าไปเปิดช่องรายการของตนเองใน Youtube จำนวนมาก และทำให้ Youtube กลายเป็นแหล่งสื่อสารและส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ เช่น รีวิวสินค้า สูบให้ชม สอนพ่นควัน สาธิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่แกะกล่อง พาไปชมประกวดพ่นควัน ตลอดจนการสอนผสมน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุด ทั้งในด้านเนื้อหาที่หลากหลายมากที่สุดและการควบคุมสื่อที่มีน้อยมาก

          ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวสรุปว่า การป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นประเด็นสำคัญของนโยบายสุขภาพระดับโลกและระดับประเทศ สำหรับในประเทศไทยมีกฎหมายควบคุม ห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า มีการลักลอบนำเข้า ขาย และส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก เยาวชนไทยจึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดอ่อนที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

Loading