วันที่ 16 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดงานแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมขวัญ ริยะมงคล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพ พร้อมด้วยอาจารย์รัฐภูมิ วรานุสาสน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงความสำเร็จในการจัดสร้าง “ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะแจ้งเตือนยานพาหนะในจุดอับสายตาสำหรับติดตั้งใช้งานกับรถจักรยานยนต์ Smart Blind Spot Warning System for Motorcycle” เพื่อนำไปต่อยอดติดตั้งในรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุทางท้องถนน แบบระยะกระชั้นชิดได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมขวัญ ริยะมงคล เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2563 โดยร่วมกันวิจัยระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะแจ้งเตือนยานพาหนะในจุดอับสายตาสำหรับติดตั้งใช้งานกับรถจักรยานยนต์ Smart Blind Spot Warning System for Motorcycle ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการนวัตกรรมรถจักรยานยนต์และถนนปลอดภัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญพล มีไชโย เป็นหัวหน้าแผนงาน และมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์ แตะกระโทก เป็นที่ปรึกษา ซึ่งที่มาของโครงการมาจากข้อมูลรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยปี 2564 มีจำนวนมากถึง 21,452,050 คัน และพบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ถึงร้อยละ 74.4 ซึ่งสูงที่สุดในประเภทของยานพาหนะบนถนน และเป็นการเกิดอุบัติเหตุจากการตัดหน้าระยะกระชั้นชิดถึงร้อยละ 9.12 ซึ่งเป็นรองแค่จากสาเหตุจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด
ซึ่งงานวิจัยนี้ได้พัฒนาอุปกรณ์ช่วยการมองเห็นในพื้นที่อับสายตาของรถจักรยานยนต์ติดตั้งที่ส่วนท้ายและด้านข้างของรถจักรยานยนต์ พัฒนาอุปกรณ์แจ้งเตือนติดตั้งบริเวณกระจกมองข้างซ้ายขวา และพัฒนาแอบพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งจากการทดสอบระบบพบว่ามีความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 90 ด้าน อาจารย์รัฐภูมิ วรานุสาสน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นดังกล่าวใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์หลายแบบ ร่วมกับการประมวลผลภาพด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) เพื่อตรวจจับและจำแนกชนิดของยานพาหนะที่เข้ามาในบริเวณจุดอับสายตา รวมทั้งประมาณระยะทางว่ายานพาหนะที่เข้ามานั้นห่างจากรถของผู้ขับขี่มากน้อยเท่าใด และใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things (IoT) ในการสื่อสารกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน โดยประชาชนสามารถนำไปใช้บนท้องถนนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะไรด์เดอร์ ต่างๆ ที่ต้องอยู่บนท้องถนนเป็นส่วนใหญ่ โดยสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ หากเปรียบเทียบกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีระบบเซ็นเซอร์ รอบคัน ก็จะมีราคาที่แพงหลักแสน แต่สิ่งประดิษฐ์ที่คณะผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรคิดค้นขึ้นนี้ มีราคาเพียง3,000-5,000 บาทเท่านั้น และอนาคตก็จะพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยวิจัยด้านเทคโนโลยีทัศนศาสตร์คอมพิวเตอร์และการโต้ตอบกับมนุษย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. 0 5596 4371-3