นักวิชาการ หนุนให้รัฐบาลคงกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า
เพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการปกป้องเยาวชนไทย
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยผลสำรวจล่าสุด โดยสวนดุสิตโพล ร่วมกับ ศจย. ได้ทำ “การสำรวจความรู้และทัศนคติต่อบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน นิสิตนักศึกษา แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย” เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 3,560 ราย (นักเรียนมัธยม 884 ราย นักศึกษาระดับปริญญาตรี 899 ราย แพทย์ 472 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 1,305 ราย) ในทุกภูมิภาคทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งผลการสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามแม้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ก็ยังคงมี นร. ถึง 3.4% นศ. 11% แพทย์ 4% และบุคลากรทางการแพทย์อีก 3.6 % ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยสูบประมาณ 4-6 ครั้งต่อวัน ส่วนใหญ่ นร.สูบตามเพื่อนหรือเห็นว่าเท่ดูดี กลุ่ม นศ.สูบเพราะมีหลากหลายกลิ่นให้เลือก ในขณะที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สูบเพราะเครียดจากการทำงานและการใช้ชีวิต ในการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า 44% นร.ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากเพื่อนและคนรู้จักมากที่สุด ส่วนอีก 3 กลุ่มซื้อจากร้านค้าออนไลน์มากที่สุด
“ในด้านการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า นร. (33.9%) นศ.(33.5%) แพทย์ (55.3%) และบุคลากรทางการแพทย์ (51.6%) รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินมากกว่าบุหรี่มวน ส่วนใหญ่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติด และทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้ (74-85%) ส่วนมากรู้ว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง (54-67%) ส่วนใหญ่รู้ว่าการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดย นร.รู้น้อยที่สุด (52.9%) ส่วนน้อยคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ (19.9-32.4%)
ทั้งนี้ส่วนใหญ่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ก็รู้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดอาการปอดถูกทำลายเฉียบพลันหรือโรคอีวาลี่ได้ และส่งผลเสียต่อปอดเช่นเดียวกับการติดเชื้อโควิด-19 โดยแสดงความคิดเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เกิดปัญหานักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน (69.5-77.1%) ส่วนน้อยเห็นด้วยว่าเป็นทางเลือกในการเลิกสูบบุหรี่มวน (20.9-36.8%) และส่วนใหญ่ (64.4-75.6%) เชื่อว่าหากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายจะส่งผลให้คนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น คำถามสุดท้ายหากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย กลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะยังสูบต่อ 79-84% และจะแนะนำให้คนใกล้ชิดสูบ 21-40% ในขณะที่คนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็จะหันมาสูบ 1.43-3.04% และจะแนะนำให้คนใกล้ชิดสูบบุหรี่ไฟฟ้า 0.44-3.11%”
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวสรุปว่า ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนยังมีความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าไม่ถูกต้อง โดยคิดว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน จึงสนับสนุนให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้า ขาย และครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการปกป้องเยาวชนไทย และควรเร่งบังคับใช้กฎหมายไม่ให้มีการลักลอบนำเข้า ขายในออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาในขณะนี้
ขอขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก : เว็บไซต์ https://siamrath.co.th/n/240334