ตัวแทนบัณฑิตเกียรตินิยม กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
นายชนพัฒน์ พิลึก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.91 “ได้แรงบันดาลใจวิธีการเรียนมาจากการทำกิจกรรมชมรมของคณะ โดยเทียบเคียงมาจากหลัก PDCA ประการแรก วางแผน 1.การศึกษารายละเอียด ข้อมูลต่าง ๆ เช่น หลักเกณฑ์การได้เกียรตินิยม รายวิชาที่ต้องศึกษาในแต่และปีการศึกษา เนื้อหาแต่ละรายวิชา เป็นต้น 2.กำหนดกรอบแผนงาน จัดตารางอ่านหนังสือ และจดกำหนดงานลงในวันปฏิทินประจำปี ประการที่สอง ลงมือทำ ตามกรอบของงานที่วางแผนเอาไว้ ประการที่สาม ตรวจสอบและประเมินผล ประการที่สี่ ปรับปรุงแก้ไข"
ตัวแทนบัณฑิตเกียรตินิยม กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายปกรณ์ รอบุญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.90 “สาขานี้ต้องใช้ความเข้าใจค่อนข้างมากตั้งแต่เนื้อหาที่เรียนในห้องซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เราต้องตั้งใจเรียนให้เข้าใจ เราจะต้องอ่านหนังสือเพื่อมาสอบอีกรอบ การอ่านหนังสือสอบมีความสำคัญ ต้องใช้เวลาอ่านหนังสืออย่างมากในการอ่านหนังสือ เพราะว่าการที่เราจะอ่านให้เข้าใจได้ต้องใช้เวลามาก และเราจะต้องเริ่มอ่านตั้งแต่การเริ่มต้นของเนื้อหา เพื่อที่จะสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาของแต่ละเรื่องเข้าด้วยกันได้ ซึ่งการเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดสามารถทำให้เราทำข้อสอบได้ และสามารถทำข้อสอบแบบประยุกต์ได้"
นางสาวนิรชา แท่งทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.84 “โดยส่วนตัวจะเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือสักเท่าไหร่ ก็เลยเน้นไปที่ว่าให้เข้าใจในห้องเรียนไปเลย ถ้ามีเรื่องใดที่ไม่เข้าใจให้ถามอาจารย์ให้เข้าใจในห้องเรียนไปเลย ซึ่งในบางกรณีเราอาจจะยังไม่รู้ว่าที่เรียนในห้องเรียนเรายังไม่เข้าใจ ตอนเย็นก็จะกลับไปทำแบบฝึกหัดซัก 1 ถึง 2 ข้อ เพื่อให้รู้ว่าเราไม่เข้าใจตรงไหนจริง ๆ ก็กลับไปถามอาจารย์ในห้องเรียนครั้งถัดไป เพราะว่าตอนอ่านหนังสือสอบมีหลายวิชาติดกันมากเราไม่สามารถเต็มที่กับทุกวิชาได้ ก็เลยจะเน้นไปที่เข้าใจในตอนเรียนไปเลย เพราะว่าเราจะได้แค่ทวนเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้สามารถเข้าใจได้"
นางสาวสุพัตรา จันทเมทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.77 “โดยส่วนตัวจะเป็นคนที่ค่อนข้างเข้าใจยาก ตอนเรียนจะตั้งใจเรียนและจับใจความว่าอาจารย์มุ่งเน้นไปในเรื่องอะไร วัตถุประสงค์ของเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างไร และสุดท้ายต้องได้อะไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก ๆ ในตอนที่เรากลับมาอ่านหนังสือจะทำให้เราอ่านได้ตรงประเด็นและก็มีแนวทางเดียวกันกับอาจารย์ผู้สอน สุดท้ายเราก็ต้องตั้งใจเรียนมาก ๆ ในห้องเรียน ซึ่งการตั้งใจเรียนไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเข้าใจ แต่เราต้องรับรู้ได้ว่าอาจารย์ต้องการจะสื่ออะไร มีวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้น ๆ คืออะไร เพราะถ้าเราไม่รู้จะทำให้ตอนอ่านหนังสือจะทำให้เราเสียเวลา"
ตัวแทนบัณฑิตเกียรตินิยม กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
นายสินธร ใจแสน คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.81 “เราต้องมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และทำตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ อาจจะมีนอกลู่นอกทางบ้างมันก็ไม่ผิด แต่ขอให้เราไปถึงจุดมุ่งหมายก็เพียงพอแล้ว"
นางสาวภัทรภร ชัยศุภสกุล คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.81 “เวลาที่เรียนในห้องเราจะเก็บเกี่ยวความรู้จดเล็คเช่อร์จากที่อาจารย์สอนมาให้ได้มากที่สุด เพราะว่าสิ่งที่อาจารย์พูดมาทุกอย่างคือสิ่งสำคัญที่สุดเลย เวลาเรียนเสร็จจะมาอ่านหนังสือและทบทวนความรู้ จดเล็คเช่อร์ความรู้ด้วยความเข้าใจของตัวเอง จะพยายามอ่านให้ได้มากที่สุด เนื้อหาที่เราไม่เข้าใจในส่วนไหนก็จะไปถามเพื่อน หรือว่าถามอาจารย์ให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้ฟังอีกรอบหนึ่ง เราอย่าดองเนื้อหาข้อมูลการเรียน เราเรียนเสร็จมาเราก็ควรที่จะอ่านหนังสือทบทวนไปเรื่อย ๆ ความรู้เราจะได้มีอยู่ตลอดไป แล้วก็ทำข้อสอบได้"
นางสาวณัฐสุดา ตาสุวรรณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.80 “สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เรามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง รู้ว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ และที่เป็นหัวข้อหลัก ๆ คือการวางแผน การวางแผนว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง เตรียมอะไรบ้างที่จะต้องไปเรียนในแต่ละวัน และเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่อาจารย์สอน หากไม่เข้าใจให้รีบจดและซักถามท้ายคาบเรียน รวมถึงเรื่องของการแบ่งเวลาก็เป็นสิ่งที่เป็นความสำคัญมาก ๆ เหมือนกัน เช่นในช่วงก่อนสอบเราจะต้องมาเคลียงานที่ค้าง พยายามอย่าให้งานค้างเยอะ จัดตารางการอ่านหนังสือวันละ 2 – 3 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่ว่าวิธีนี้ดีที่สุดก็ไม่ใช่เพราะว่าแต่ละคนมีแนวทางเป็นของตนเอง และสุดท้ายคือการนำข้อผิดพลาดมาหาคำตอบ จะทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น"
นายแพทย์วัฒนชัย แจ่มจำรัส คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.77 “โดยส่วนมากแล้วการเรียนจะเรียนร่วมกันกับเพื่อน ๆ จะช่วยกันติว ตรงไหนที่ไม่เข้าใจก็จะถามกัน พอเราติวเสร็จแล้วเราก็หมั่นมาทบทวนกับสิ่งที่เรียนไป ก็จะทำให้เราจำได้และทำข้อสอบได้"
นางสาวน้ำฝน ยมจันทร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกรดเฉลี่ย 3.60 “ตอนปี 1 ยังเรียนแบบเรื่อย ๆ และด้วยการที่มาอยู่ปี 1 อยู่นอกบ้านครั้งแรก ก็สนุกกับการอยู่นอกบ้านมาก ก็เลยไม่ค่อยได้สนใจเรียน จนทำให้เกรดตกลงมาเยอะมาก เราก็เลยต้องจริงจังกับการเรียน เพราะเป็นสิ่งที่เราจะต้องนำไปใช้กับการทำงานของเราข้างหน้า จนเริ่มปี 2 ก็เริ่มตั้งใจเรียนใหม่ เอาใหม่ ตั้งใจฟังอาจารย์ในห้องเรียนให้เข้าใจ อ่านหนังสือก่อนสอบ 1 เดือน ซึ่งวิชาไหนที่เราไม่เข้าใจ เราก็ถามอาจารย์ให้ได้ข้อมูลที่มีความกระจ่างขึ้น ให้ลองทำตารางอ่านหนังสือ ว่าเวลานี้จะอ่านถึงกี่โมง มีช่วงเวลาพัก แล้วกลับมาอ่านต่อ รวมถึงให้เราลองสวมบทบาทอาจารย์ผู้สอนในแต่ละวิชานั้น ๆ ว่าแต่ท่านมีคาแรกเตอร์อย่างไร ถ้าเราเป็นอาจารย์จะออกข้อสอบอย่างไรหากถ้าไม่อ่านหนังสือมาก็จะทำข้อสอบไม่ได้"