ปกป้องเยาวชนไทย ตัดวงจรเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ เร่งสื่อสารข้อเท็จจริง ถึงอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า

          ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เปิดเผย งานวิจัยล่าสุด เรื่อง ‘การศึกษาการสื่อสารการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อสังคมเครือข่าย (social media network) และการสูบบุหรี่ฟ้าในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มวัยทำงาน ปี 2564’  โดยกลุ่มตัวอย่าง 3,064 ราย แบ่งเป็น 3 วัย คือ กลุ่มวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 16-18 ปี จำนวน 1,200 ราย  กลุ่มวัยอุดมศึกษา อายุ 18-23 ปี จำนวน 1,203 ราย  และกลุ่มวัยทำงานตอนต้นและกลาง อายุ 24-35 ปี จำนวน 600 ราย  ทั้งนี้ผลการศึกษา ในปี 2564 พบว่า มีการฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งพบแหล่งขายทั้งแหล่งกายภาพและแหล่งออนไลน์ โดยแหล่งกายภาพที่สำรวจ 15 แหล่ง ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า มีบุหรี่ไฟฟ้าขาย 10 แหล่ง และแหล่งขายออนไลน์มี 300 ID (เจ้า) ใน 6 แพลตฟอร์ม โดยมีผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าขาย 10 ประเภท และราคาบุหรี่ไฟฟ้าทุกผลิตภัณฑ์ลดต่ำลง ร้อยละ 40
          “ส่วนด้านพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า กลุ่มวัยเรียนมัธยมปลายสูบสูงที่สุด ร้อยละ 47 และวัยอุดมศึกษาสูบ ร้อยละ 45  ส่วนวัยทำงานสูบ ร้อยละ 32  โดยเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะอยากลอง และที่ยังคงสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนถึงปัจจุบันเพราะกลิ่นรส  ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างได้รับอิทธิพลของสื่อสังคมเครือข่าย ทำให้เข้าถึงและซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากช่องทางออนไลน์มากที่สุด  โดยสื่อสังคมเครือข่ายทุกแพลตฟอร์มกลายเป็นแหล่งโฆษณาส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าแหล่งใหญ่ที่สุด  ซึ่งแพลตฟอร์มที่พบผู้ค้ามากที่สุด คือ Website รองลงมา คือ Line, Youtube, Facebook, Twitter และ Instagram ตามลำดับ  และมีการใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด คือกลุ่ม Youtuber และ Influencer วัยรุ่น ในช่องทางสื่อเพื่อสื่อสารเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีผลต่อการเปิดรับและติดตามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าของกลุ่มเป้าหมาย” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
         ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า 20 กันยายน 2564 นี้ เป็น ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’  ซึ่งสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยยังน่าเป็นห่วงมาก โดยเยาวชนยังมีความสับสนเรื่องข้อมูลของบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย และยังเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย ซึ่งทั้งหมดนี้คือสัญญาณอันตรายอย่างมากที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย  ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ  ดังนี้  1) เร่งสื่อสารข้อเท็จจริงถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน  ซึ่งการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อการลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อCOVID-19 และมีอาการรุนแรง โดยในไอของบุหรี่ไฟฟ้า มีสารโลหะหนัก เช่น นิเกิล โครเมียม ที่มีพิษต่อปอด แคดเมียมที่มีพิษต่อไต และสารก่อมะเร็ง เช่น เบนซีน อะเซตตัลดีไฮด์  2) เร่งจำกัดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าให้มีความเข้มข้นจริงจังอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องเยาวชนที่เป็นพลังสำคัญของชาติจากวงจรเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า
ที่มา : ศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ขอขอบคุณภาพจาก : https://www.thaihealth.or.th/

Loading