ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึง ตามที่มีข่าวของมติชน ในหัวข้อ “สันติ เด้งรับนายกฯ เร่งปราบบุหรี่เถื่อน ปฏิเสธเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ชี้การวิจัยยังไม่รับรอง” ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ซึ่งทาง ศจย.เห็นด้วยกับข้อความในเนื้อหาของข่าวที่ว่า “เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีข้อเสนอแนะให้จัดเก็บภาษีให้ถูกต้องนั้น สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ที่จะจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า หรือกำหนดเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากยังมีผลวิจัยหลายสำนักที่มีหลักฐานชัดเจน ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังมีอันตรายต่อผู้บริโภค และยังไม่มีหน่วยงานใดรับรอง และต่างประเทศก็ยังไม่ยอมรับ ฉะนั้นหน่วยงานปราบปรามก็ต้องทำงานอย่างเข้มงวดกวดขัน ในการปราบปรามจับกุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย”
“ทั้งนี้ ในเนื้อหาของข่าวได้มีการอ้างอิงถึงข้อมูลของ ศจย.ที่ว่า “ปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาขายผ่านออนไลน์กันอย่างโจ้งแจ้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจับกุมได้ ทำให้ตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากอัตราการสูบ จากหลักแสน เพิ่มเป็นหลักล้าน โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า เมื่อปี 2560 มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 1.2 ล้านคน และเพิ่มเป็น 3.6 ล้านคน ในปี 2561 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในปีนี้จะทะลุ 5 ล้านคน” โดยข้อความดังกล่าวนี้ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนได้ เนื่องจากเป็นตัวเลขของนักเรียนมัธยมในสหรัฐอเมริกาที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นก้าวกระโดดมิใช่เป็นตัวเลขที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยแต่อย่างใด
จากการการสำรวจบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 ในกลุ่มประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีเพียงแค่ 13,760 ราย เท่านั้น หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.13 และล่าสุดในปี 2564 พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.14 โดยยังคงมีจำนวนประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่มาก เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ประเทศไทยมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งทาง ศจย.ให้ความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
ที่มา : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)