วิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้

วิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้

          ผศ.ดร.ทศพล บุตรมี และ ดร.ฤดีรัตน์ มหาบุญปีติ สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันเล่าถึงวิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจองค์ประกอบของการเกิดเพลิงไหม้

          สำหรับองค์ประกอบของการเกิดเพลิงไหม้หรือการติดไฟ มี 3 อย่าง คือ 1.เชื้อเพลิง 2.ออกซิเจน มีไม่ต่ำกว่า 16 % ซึ่งโดยปกติจะมีอยู่ในอากาศประมาณ 21 % โดยปริมาณ และ 3.ความร้อน ที่เพียงพอทำให้เกิดการลุกไหม้

          เพลิงไหม้ แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ เพลิงไหม้ประเภทเอ บี ซี ดี และ เค 1.เพลิงไหม้ประเภทเอ คือ เพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของแข็งธรรมดา เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ฟืน ฟาง ยาง 2.เพลิงไหม้ประเภทบี คือ เพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เกิดจากของเหลวไวไฟ ของเหลวติดไฟ และก๊าซไวไฟ 3.เพลิงไหม้ประเภทซี คือ เพลิงไหม้ที่เกิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีการใช้กระแสไฟฟ้าอยู่ 4.เพลิงไหม้ประเภทดี คือ เพลิงไหม้ที่เกิดกับโลหะติดไฟ เช่น แมกนีเซียม ไททาเนียม และ 5.เพลิงไหม้ประเภทเค คือ เพลิงไหม้ที่เกิดกับเครื่องครัวที่มีการปรุงอาหารโดยน้ำมันพืช หรือน้ำมันไขมันสัตว์

         วิธีการป้องกันเพลิงไหม้

         1.การจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยจากเพลิงไหม้ เช่น กำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง เก็บแยกสารเคมีที่ติดไฟง่ายให้ห่างจากแหล่งความร้อน ไม่จัดเก็บสิ่งของกีดขวางประตูทางออกฉุกเฉินและบันไดหนีไฟ

         2.ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันและระงับเหตุเพลิงไหม้ เช่น ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง เครื่องตรวจจับควันไฟหรือ smoke detector สัญญาณเตือนเพลิงไหม้ และเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ

         3.เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ เช่น ไม่จุดธูปเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแล ดับไฟก้นบุหรี่ให้สนิทก่อนทิ้ง เป็นต้น

         4.ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน สายไฟฟ้าและฟิวส์มีขนาดเหมาะสมกับปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า รวมถึงปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งาน และให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ก๊าซหุงต้ม

         5.ตรวจสอบสภาพถังก๊าซให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ วาล์วถังก๊าซ สายยางหรือท่อนำก๊าซ ไม่มีรอยรั่ว จัดวางถังก๊าซให้ห่างจากบริเวณที่มีประกายไฟ รวมถึงปิดวาล์วถังก๊าซทุกครั้งหลังใช้งาน

        ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในอาคารที่พักอาศัยหรือสำนักงานที่ท่านทำงานอยู่ สิ่งที่จำเป็นต้องทำอันดับแรก คือ การตั้งสติ และไม่ตื่นตระหนก จากนั้นให้ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น หากเป็นเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นเล็กน้อย และสามารถใช้ถังดับเพลิงในเบื้องต้นได้ ให้นำถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งฉีดพ่นบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้เพื่อคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามมากขึ้น

         แต่ในกรณีที่เป็นเพลิงไหม้ขั้นรุนแรงหรือในบริเวณดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์ดับเพลิง ให้ตะโกนบอกเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือกดสัญญาณแจ้งให้ผู้อื่นทราบ พร้อมรีบอพยพออกจากพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ จากนั้นให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงมาระงับเหตุและควบคุมเพลิง

         สิ่งสำคัญที่ควรศึกษา เมื่อท่านอาศัยในอาคารสูงหรือทำงานอยู่ในอาคารสำนักงาน คือ การจดจำตำแหน่งบันไดหนีไฟ ประตูทางออกฉุกเฉิน เส้นทางหนีไฟที่ใกล้ที่สุด ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินจะได้หนีออกจากอาคารได้อย่างรวดเร็ว และหากในกรณีที่พักอาศัยเป็นอาคารสูง ควรวางกุญแจห้องและไฟฉายไว้ใกล้ตัวเสมอ เพื่อเกิดเพลิงไหม้จะได้อพยพหนีไฟได้ทันท่วงที

         นอกจากการตั้งสติแล้ววิธีการอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ก็มีความสำคัญ โดยก่อนที่จะออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อน ให้เปิดประตูออกไปช้า ๆ และอพยพไปตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่หากมีความร้อนสูง แสดงว่าอาจเกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้เคียง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะเพลิงไหม้จะลุกลามเข้ามาในห้องได้ ให้ปิดห้องให้สนิทแล้วใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟลอยเข้ามาได้ จากนั้นให้ปิดเครื่องปรับอากาศและพัดลมระบายอากาศเพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ และรีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ จะได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที

         เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ให้หลีกเลี่ยงการอพยพหนีไฟโดยใช้บันไดภายในอาคาร เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่องทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงพุ่งขึ้นมาปกคลุม เสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้ และห้ามใช้ลิฟท์ในการอพยพหนีไฟอย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้

         กรณีที่อพยพออกมาตามเส้นทางหนีไฟ และมีควันไฟปกคลุมอยู่ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์มาครอบศีรษะ พร้อมหมอบคลานต่ำไปตามเส้นทางอพยพออกสู่อาคารทางบันไดหนีไฟ จะช่วยป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย

         สำหรับรายการ “สาธารณสุข สร้างสุข” ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 18.30 – 19.00 น.ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร FM 107.25 MHz “วิทยุเพื่อการศึกษา สร้างปัญญาสู่มวลชน”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

Loading